ทวงคืนระบบเทคโนโลยีสู่มือประชาชน : สู่บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัย

ทวงคืนระบบเทคโนโลยีสู่มือประชาชน : สู่บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัย

ในโลกปัจจุบันที่ AI ดูเหมือนกับจะถูกยกให้มีบทบาทเชิง “ครอบงำ” มากขึ้น ไปจนถึงมีนักเขียนชื่อดังอย่าง Yuval Noah Harari ตั้งคำถามในหนังสือเล่มใหม่ Nexus: A Brief History of Information Networks from the Stone Age to AI ทำนองว่า

เราจะยกอำนาจให้ AI มากน้อยเท่าไร ภัยคุกคามและโอกาสของมนุษย์คืออะไร เช่นนี้ นี่สะท้อนถึงปัญหาที่ลึกกว่านั้น 

ส่วนที่ถามกันยาวนาน คือเราจะอยู่กับระบบเทคโนโลยีอย่างไร และหากถามให้เจาะจงยิ่งขึ้น ในสังคมที่ระบบเทคโนโลยีถูกสร้างโดยบรรษัทขนาดใหญ่

สังคมจะยอมเป็นฝ่ายตั้งรับต่อบรรษัทขนาดใหญ่ที่พัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ใน “กล่องดำ” เช่นนั้นหรือ 

คำตอบพอสังเขปมีในหนังสือ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา: ความรู้ฉบับเบื้องต้น” An Introduction to Science and Technology Studies (STS) ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Illuminations Editions ในบทที่ 9 “คำถามสองข้อเกี่ยวกับเทคโนโลยี” 

คำถามสองข้อนี้ได้แก่ “เทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือไม่” และ “เทคโนโลยีขับเคลื่อนประวัติศาสตร์หรือไม่” 

คำตอบเบื้องต้นคือ เทคโนโลยีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่เทคโนโลยีนั้นมีการก่อกำเนิดและเส้นทางของมันเองได้ บางครั้งเทคโนโลยีบางอย่างมาก่อนความรู้วิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ 

คำตอบข้อถัดมา เทคโนโลยีมีส่วนขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่ในแบบของการกำหนดตายตัว หากแต่สังคมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับและออกแบบเทคโนโลยีด้วยซ้ำ

ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “การประกอบสร้างทางเทคโนโลยีของสังคม" (Social Construction of Technology: SCOT) ซึ่งเป็นเหมือนกรอบแว่นที่ช่วยส่องประเด็นนี้ให้ชัดเจนขึ้น และเป็นกรอบคิดที่แคะให้เห็นว่า

เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ก็ได้ เรามีทางเลือก แต่เราก็มิใคร่จะตระหนักถึงศักยภาพในข้อนี้

นี่นำมาสู่ปฏิบัติการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายแห่งในปัจจุบัน ที่ไม่พอใจกับระบบเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ ข้อสำคัญคือ ปฏิบัติการหลายอย่างที่เกิดขึ้น พยายามก้าวข้ามบทบาท “ตั้งรับ”

ซึ่งหมายถึงว่า การยอมรับบทบาทแค่เป็นผู้เลือกเทคโนโลยีที่ออกแบบมาแล้วเท่านั้น แต่มุ่งสู่การ “ร่วมออกแบบ” (co-design) ด้วย นั่นคือการกำหนดเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นทาง ให้ต้องคำนึงถึง “คุณค่าทางสังคม” ตั้งแต่แรก 

หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ “ออกแบบ เมื่อทุกคนร่วมออกแบบ” โดย Ini Creativespace ในเล่มนี้ กล่าวไปถึงในทำนองที่ว่า เมื่อออกแบบเทคโนโลยี (หรือนวัตกรรมทางสังคม) ก็คือออกแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่สอดคล้องกันด้วย

ทั้งนี้ งานเชิงปฏิบัติการสำคัญที่ใช้หลักการ “การประกอบสร้างทางเทคโนโลยีของสังคม” แม้จะไม่ใช้คำนี้ตรงๆ คือ งานอย่างเช่น digital platform “ตามสั่งตามส่ง” โดย Innovation for social solidarity and inclusive economy in Asia (issie) แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่พยายามทวงคืน digital economy ในระบบการสั่งและส่งอาหาร ให้ผู้คนธรรมดามีอำนาจมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้บริษัท platform จัดการไปเอง 

“ตามสั่งตามส่ง” นี้ร่วมออกแบบโดยพยายามปรับสมดุลอำนาจภายในระบบเทคโนโลยีใหม่ เชื้อชวนให้ผู้เสียเปรียบ ได้แก่ วินมอเตอร์ไซค์ และร้านอาหารตามสั่ง (อาจเรียกได้ว่า “กลุ่มสำคัญทางสังคม”) เข้ามามีบทบาทนำมากขึ้น

 อนึ่ง ในการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้สร้างเทคโนโลยีย่อมต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน คือ ไม่อาจจำกัดตนเองแค่เป็นผู้มอบทางเลือกเทคโนโลยีให้กับกลุ่มสำคัญทางสังคม แต่ต้องร่วมเรียนรู้โจทย์ปัญหาของกลุ่มสำคัญทางสังคมแต่แรกด้วย

ลักษณะของปฏิบัติการเช่นนี้ จึงอาจเรียกได้ว่า ย้อนทางกับวิธีคิดแบบเดิม ที่มองวิทยาศาสตร์เป็นฐานมุ่งสู่การประยุกต์เป็นเทคโนโลยี ในวิธีคิดนี้ บทบาทของสังคมศาสตร์ จะถูกมองแค่เป็นผู้ที่ต้องช่วยสร้างการยอมรับเทคโนโลยี

ในทางตรงกันข้าม สังคมศาสตร์ควรต้องสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม (หรือคำอื่นๆ แล้วแต่จะเรียก เช่น ระบบนิเวศ, ระบบนวัตกรรม, สถาบัน ฯลฯ) ที่เอื้อให้เกิดเทคโนโลยีนั้นๆ ตั้งแต่ต้นทางด้วย

คำถามต่อเนื่องคือ เราจะสนับสนุนให้ปฏิบัติการเช่นนี้เกิดมากขึ้นได้อย่างไร นี่หมายถึงการให้ทุนวิจัยในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ควรเปิดพื้นที่มากขึ้นสำหรับงานข้ามสาขาที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ต้นทางเข้าหากัน และไม่ใช่มุ่งเน้นแต่บริษัทสตาร์ตอัปเท่านั้น แต่ลงไปสร้างระบบเทคโนโลยีกับผู้คนด้วย

หวังว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน ต้องมองมากกว่าแค่ re-skill, up-skill เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรม แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจด้วยว่า คุณค่าทางสังคมเช่นกันที่เป็นตัวกำหนดและกำกับเทคโนโลยี และสร้างผู้ประกอบการตัวจริง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่แค่ผลิตความรู้ป้อนอุตสาหกรรม แต่ต้องสร้างประชาธิปไตยในการผลิตความรู้ เช่นนี้จึงจะเกิดความยั่งยืน และมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีอย่างแท้จริง.