ศปช. เผย 1-6 พ.ย. 67 ไทยตอนบน เตรียมรับอากาศเย็น อุณหภูมิลด 2-4 องศาฯ

​ศปช. เผย 1-6 พ.ย. 67 ประเทศไทยตอนบน เตรียมรับอากาศเย็น

​ศปช. เผย ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และใต้ตอนบน เตรียมรับอากาศเย็น ส่วนภาคใต้อาจมีฝนตกบางพื้นที่ ด้านเชียงรายเสนอแผนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและระบบติดตามการฟื้นฟูเยียวยาฯ ระยะที่ 2 คาดเริ่มใช้ 1 พ.ย. 67 - 30 เม.ย 68

วันนี้ (31 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 1 - 6 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานลางถึงค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรก

หลังจากนั้นจะมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางและตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
 

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ระบายจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และแควน้อยฯ ไหลมารวมกันที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ปัจจุบัน 1,609 ลบ.ม./วินาที ไหลมารวมกับปริมาณน้ำ Side flow ทำให้มีปริมาณน้ำในการบริหารจัดการเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,892 ลบ.ม/วินาที

นอกจากนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป้าสัก 61 ลบ.ม/วินาที ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 94 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลมาบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ย 1,274 ลบ.ม./วินาที
 
นายจิรายุ กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบแผนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและระบบติดตามการฟื้นฟูเยียวยา พื้นที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ในจังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2 จากทางจังหวัดเชียงราย สืบเนื่องจากการดำเนินการส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดเชียงรายจึงได้จัดทำแผนการฟื้นฟู โดยแผนอยู่ในขั้นตอนของการยกร่าง การดำเนินการของแผนฟื้นฟูจะแบ่งเป็น 3 ยุทธศาสตร์ 7 กลยุทธ์ ดังนี้ 
 

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การฟื้นฟูและยกระดับให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้แก่

  • กลยุทธ์ที่ 1 การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามอบายมุข และผู้มีอิทธิพล
  • กลยุทธ์ที่ 2 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การฟื้นฟูขีดความสามารถเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่

  • กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
  • กลยุทธ์ที่ 2 การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
  • กลยุทธ์ที่ 3 การจัดหาน้ำอุปโภคและบริโภคบริการประชาชนให้ทั่วถึง

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 ติดตามเร่งรัดการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ได้แก่

  • กลยุทธ์ที่ 1 เร่งรัดติดตามเงินฟื้นฟูยาและชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
  • กลยุทธ์ที่ 2 เร่งรัดติดตามการชดเชยเยียวยาบ้านที่เสียหายทั้งหลังหรือบางส่วน

 
ภาพรวมทั้งหมดของแผนการดำเนินการยังอยู่ในขั้นตอนของการยกร่าง และรวบรวมข้อมูล โดยจะมีการขับเคลื่อน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 30 เมษายน 2568 โดยแผนดังกล่าวจะมีการดำเนินการแบบ Rolling Plan จะต้องดำเนินการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการแก้ไขและเยียวยาขับเคลื่อนทุกพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้ครบทุกมิติ โดยแผนการดำเนินการจะมีการติดตามผลทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน จนกว่าการดำเนินการของทุกส่วนราชการและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมทั้งรายงานแก่ที่ประชุม ศปช. ให้รับทราบต่อไป