ฝนตกหนัก เตือน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม 2-6 พ.ย.นี้
ฝนตกหนัก ศปช. เตือน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม 2-6 พ.ย.นี้ ด้าน เขื่อนเจ้าพระยา ปรับลดการระบายน้ำเหลือ 1,300 ลบ.ม./วินาที
วันนี้ (1 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 2 - 5 พ.ย. 67 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ที่ประชุม ศปช. ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ในช่วงวันที่ 2 - 6 พ.ย. 67 เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ดังต่อไปนี้
- จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน และพะโต๊ะ)
- จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ พนม บ้านนาสาร บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก และเกาะสมุย)
- จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง)
- จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
- จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เหนือคลอง และคลองท่อม)
- จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง และวังวิเศษ)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร)
- จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง และควนขนุน)
- จังหวัดสงขลา (อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด นาทวี สิงหนคร หาดใหญ่ และรัตภูมิ)
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ฝนช่วงดังกล่าวยังคงต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ และยังเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุด (1 พ.ย. 67 เวลา 07.00 น.) สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,540 ลบ.ม./วินาที ที่สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,333 ลบ.ม/วินาที ศปช. จะทยอยปรับลดการระบายแบบขั้นบันได จากอัตรา 1,350 ลบ.ม./วินาที เหลือ 1,300 ลบ.ม./วินาที
ส่วนความคืบหน้าการเร่งรัดจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัยตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ล่าสุด (31 ต.ค. 67) มีการยื่นคำร้องในระบบ 57 จังหวัด 298,852 ครัวเรือน ปภ. ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสิน 18 ครั้ง ในพื้นที่ 42 จังหวัด 210,206 ครัวเรือน ธนาคารออมสินโอนจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์แล้ว 16 ครั้ง โอนเงินสำเร็จ 188,413 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,695,653,000 บาท