ไทย-อาเซียน เจอฝนตกหนักถึงสิ้นปี ผลกระทบ ‘ลานีญา’ เตรียมรับมือน้ำท่วม ดินถล่ม

ไทย-อาเซียน เจอฝนตกหนักถึงสิ้นปี ผลกระทบ ‘ลานีญา’ เตรียมรับมือน้ำท่วม ดินถล่ม

"ลานีญา" อาจทำให้ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญกับฝนตกหนักมากขึ้นจนถึงสิ้นปี 2024 ทำให้เกิดน้ำท่วม และดินถล่ม

KEY

POINTS

  • "ลานีญา" อาจทำให้ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับฝนตกหนักมากขึ้นจนถึงสิ้นปี 2024 ทำให้เกิดน้ำท่วม และดินถล่ม
  • ช่วงที่เกิดลานีญาอุณหภูมิผิวน้ำจะอุ่นขึ้น น้ำก็จะระเหยมากขึ้น ทำให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศด้านล่างเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้น
  • ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับทั้งฝนตก และสภาพอากาศที่อบอุ่นมากขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่าสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเจอฝนตกหนักอย่างน้อยอีก 2 เดือน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า “ปรากฏการณ์ลานีญา” กำลังจะเริ่มขึ้น

 

ลานีญาทำให้เกิดฝนตกหนักได้อย่างไร ?

ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์บรรยากาศมหาสมุทรคู่กันซึ่งเกิดขึ้นคู่กับ “เอลนีโญ” ในช่วงที่เกิดลานีญา อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางตะวันออกแถบเส้นศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ 3-5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน หรืออาจนานเป็นปี

ดร.หวัง จิงหยู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติแล้ว ทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกจะอุ่นกว่าทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันออก แต่เมื่อเข้าสภาวะลานีญา อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกจะอุ่นขึ้นอีก 0.5-1 องศาเซลเซียส

เมื่ออุณหภูมิผิวน้ำจะอุ่นขึ้น น้ำก็จะระเหยมากขึ้น ทำให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศด้านล่างเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้น

ในทางกลับกัน ช่วงที่เกิดเอลนีโญ ซึ่งอาเซียนเจอไปตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกตะวันตกจะเย็นกว่า และอุ่นกว่าในแปซิฟิกตะวันออก ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้งกว่า

ลานีญาจะกินเวลานานเพียงใด ? 

ศูนย์อุตุนิยมวิทยา เฉพาะทางอาเซียนเผยว่า ปรากฏการณ์ลานีญาน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเป็นต้นไป และคาดการณ์ว่าจะคงอยู่จนถึงต้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีฝนตกหนักกว่าปกติ

สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักงานบริหารมหาสมุทร และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ในสหรัฐ คาดการณ์ว่ามีโอกาสประมาณ 60% ที่ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน และจะคงอยู่จนถึงมกราคม-มีนาคม ของปีหน้า

ดร.ธรูบาจโยติ ซามันตา นักวิจัยอาวุโสจากหอสังเกตการณ์โลกของสิงคโปร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าวว่า ลานีญาอาจช่วยให้แหล่งน้ำใต้ดินเพิ่มมากขึ้น เพราะน้ำจะซึมผ่านชั้นดินที่ลึกลงไป ซึ่งจะมีประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น และมีอุณหภูมิลดต่ำลง

ขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเกิดน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่จะเพิ่มขึ้น หากมีปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ย ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลสูงอยู่แล้ว เช่น ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงตามฤดูกาล และบางประเทศในอาเซียนอาจเผชิญน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีการระบายน้ำไม่ดี รวมถึงเกิดดินถล่ม และโคลนถล่มในพื้นที่ภูเขา

ฝนตกมากเกินไปไม่ใช่ข้อดีสำหรับการเกษตรเสมอไป เพราะลานีญาทำให้เกิดฝนตกที่ทำลายพืชผลทางเกษตร ได้ผลผลิตลดลง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น อุทกภัยในมาเลเซียเมื่อปี 2564 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 62,500 ไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมากกว่า 200,000 ตัน ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นฟูหลายปีกว่าจะฟื้นฟูความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และในตอนนี้ยอดการผลิตข้าวในมาเลเซียยังคงไม่กลับมาในระดับปกติ

 

 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเทศส่วนใหญ่บนคาบสมุทรอินโดจีนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากพายุร้ายแรง พายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่ม ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง และน้ำท่วม ในเวียดนาม ไทย ลาว และเมียนมา เมื่อเดือนกันยายน คร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคน และสร้างความเสียหายต่อโรงงาน และพื้นที่เพาะปลูก

ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็เผชิญกับพายุร้ายแรงหลายลูกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมถึงพายุไต้ฝุ่นแกมีในเดือนกรกฎาคม พายุยางิในเดือนกันยายน และพายุกระท้อนในเดือนตุลาคม

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในระยะยาว

ปรากฏการณ์ลานีญาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับลานีญาที่เคยเกิดขึ้นในอาเซียนในช่วงปี 2020-2022 และระหว่างปี 1998-2001

ลานีญาที่เกิดขึ้นในปี 2020-2022 ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของมาเลเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ราย และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลลาร์ นับเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเผชิญกับทั้งฝนตก และสภาพอากาศที่อบอุ่นมากขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะอาเซียนตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น และเคยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในละติจูดกลาง

เมื่อภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น ก็จะทำให้สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ดร.หวัง กล่าวว่า

“เหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในรอบ 100 ปี อาจจะเปลี่ยนเกิดทุก 10 ปี หรือเลวร้ายกว่านั้นอาจจะเกิดขึ้นทุกปี ในอีกไม่ช้านี้ เราจำเป็นต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนยังคงมีความสำคัญ ก่อนที่จะสายเกินไป”


ที่มา: bloombergCNA

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์