เตือน ฝนตกหนัก "11 จังหวัดภาคใต้" เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก 2-8 พ.ย.นี้

เตือน ฝนตกหนัก "11 จังหวัดภาคใต้" เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก 2-8 พ.ย.นี้

ฝนตกหนัก ศปช. เตือน "11 จังหวัดภาคใต้" เฝ้าระวังภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 2-8 พ.ย.นี้ มีอำเภอไหนบ้างเช็ก!

วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ศปช. เตือนประชาชนพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 2-8 พฤศจิกายน 2567 ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มใน 11 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ 

 

  1. ประจวบคีรีขันธ์ (อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย)
  2. ชุมพร (อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ)
  3. ระนอง (อ.เมืองระนอง อ.กระบุรี อ.ละอุ่น อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ)
  4. สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พนม อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.เคียนซา อ.พระแสง อ.ดอนสัก อ.เกาะสมุย)
  5. พังงา (อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง)
  6. ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ อ.ถลาง)
  7. กระบี่ (อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม)
  8. ตรัง (อ.เมืองตรัง อ.ย่านตาขาว อ.ห้วยยอด อ.นาโยง อ.วังวิเศษ)
  9. นครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ขนอม อ.ทุ่งสง อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร)
  10. พัทลุง (อ.เมืองพัทลุง อ.ควนขนุน)
  11. สงขลา (อ.เมืองสงขลา อ.กระแสสินธุ์ อ.ระโนด อ.นาทวี อ.สิงหนคร อ.หาดใหญ่ อ.รัตภูมิ)

 

นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังน้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำรัชชประภา และอ่างเก็บน้ำบางลาง และยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 7 แห่ง อาทิ อ่างเก็บน้ำหาดส้มแป้น, อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด, อ่างเก็บน้ำห้วยลึก, อ่างเก็บน้ำคลองหยา, อ่างเก็บน้ำบางวาด, อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุต้องมีการปรับระบายน้ำบางส่วน
 
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในปี 2568 แล้ว ซึ่งได้สรุปผลถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในครั้งก่อน นำมาเป็นแผนปฏิบัติงานในระดับจังหวัดในปี 2568 รวมถึงใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2569-2573) แบ่งการบริหารออกเป็น 6 มิติ ประกอบด้วย มิติป่าสงวนฯ, มิติป่าอนุรักษ์, มิติชุมชนเมือง ระบบขนส่ง อุตสาหกรรม และอื่นๆ, มิติด้านการเกษตร, มิติด้านการบริหารและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมิติด้านการลดผลกระทบด้านสุขภาพ นำมาเป็นแผนหลักในการปฏิบัติการรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ในปี 2568