จากการปฏิวัติคอมมูนปารีสถึงปัญหาสังคมปัจจุบัน

จากการปฏิวัติคอมมูนปารีสถึงปัญหาสังคมปัจจุบัน

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 153 ปี ของการปฏิวัติคอมมูนปารีส การปฏิวัติของประชาชนคนงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก

ต่างจากการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789 (82 ปีก่อนหน้านั้น) ที่แม้จะอ้างคำขวัญสวยหรู เช่น เสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ แต่สถานที่แท้จริงเป็นแค่การปฏิวัติประชาธิปไตยของนายทุนและชนชั้นกลาง ที่คนงานและประชาชนชั้นล่างยังคงได้รับส่วนแบ่งน้อยมาก

การปฏิวัติคอมมูนปารีสปี ค.ศ. 1871 เป็นการปฏิวัติของชนชั้นคนงานและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ก้าวหน้าผู้ต้องการสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรม นำโดยนักสังคมนิยมและพวกอนาคิสต์ (ไม่พึ่งรัฐ) ส่วนหนึ่ง แต่สมาชิกคอมมูนส่วนใหญ่เป็นพวกนิยมสาธารณรัฐและประชาธิปไตย 

ชาวคอมมูนปารีสซึ่งมีหลายหมื่นคนยึดนครปารีส และบริหารเมืองนั้นแบบรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง (ที่อพยพไปอยู่เมืองแวร์ซายส์) อยู่ได้ 72 วัน (เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 1871) ก็ถูกรัฐบาลกลางฝรั่งเศสยกกองทัพมาปราบปรามจนคอมมูนปารีสต้องล่มสลาย 

ในช่วงการปฏิวัติราว 2 เดือนเศษนั้น ชาวคอมมูนปารีสได้บริหารจัดการนครปารีส (ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ที่ยุคนั้นมีประชากรเกือบ 2 ล้านคน) ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แบบกระจายอำนาจการบริหารสู่ชุมชน องค์กรประชาชนต่างๆ แนวประชาธิปไตยทางราบที่ประชาชนมีบทบาทโดยตรงสูง 

คณะกรรมการคอมมูนปารีสออกกฎใหม่ลดเวลาทำงานของคนงานลง เลิกการทำงานกะดึก จ่ายค่าแรงผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย ให้สวัสดิการคนจน คนด้อยโอกาส จัดการศึกษาฟรี และอาหารฟรี ฯลฯ 

การปฏิวัติคอมมูนปารีสพิสูจน์ว่าในสถานการณ์ที่ประชาชนมีโอกาสบริหารชุมชนด้วยตนเองนั้น ประชาชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใสกว่าพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางในระบบรัฐสภาแบบทุนนิยม 

คอมมูนแห่งปารีสเป็นเหตุการณ์ที่นักสังคมนิยมและนักอนาธิปไตย (อนาคิสต์) ในยุคนั้นและยุคต่อมา ทั้งคาร์ล มาร์กซ์, บากูนิน, โครพอตกิ้น, เลนิน ฯลฯ ต่างเขียนยกย่องจิตใจการยืนหยัดต่อสู้ของพวกเขา แม้บางคนจะเขียนวิจารณ์จุดอ่อนของชาวคอมมูนฯ จากจุดยืนของอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายไว้ด้วยก็ตาม 

การปฏิวัติและการบริหารจัดการคอมมูนปารีส เกิดขึ้นได้โดยนักเสรีประชาธิปไตย นักสังคมนิยมและชาวอนาคิสต์

ปัจเจกชนคนหนึ่งคือ ลูอีซ มิเชล ครู โรงเรียน หัวก้าวหน้าหนึ่งในแกนนำชาวคอมมูนปารีสที่รอดชีวิตหลังการถูกล้อมปราบมาได้ เธอถูกจับกุมคุมขังและต่อมาถูกเนรเทศไปอยู่นิคมนักโทษในหมู่เกาะปาซิฟิกราว 7 ปี ในปี 1880  หลังจากชาวคอมมูนปารีสทั้งหมดได้รับนิรโทษกรรม

เธอกลับมาเคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมแนวอนาคิสต์ในฝรั่งเศส, อังกฤษและที่อื่นๆ ต่อมาอีก 20 กว่าปี จนถึงวาระสุดท้ายของเธอในปี 1905 (ในวัย 74 ปี)

ลูอีซ มิเชล เป็นทั้งนักปฏิวัติ นักเผยแพร่ความคิด นักใฝ่ฝันและกวี เธอมีผลงานเขียนจำนวนหนึ่ง หนังสือเรื่อง “บันทึกความทรงจำ” ของเธอ เขียนได้อย่างมีอารมณ์ผูกพันรุนแรง (Passion)

เป็นงานเขียนที่มีลักษณะโรแมนติก หวือหวา แบบพวกมีอุดมการณ์แรง แต่หลายตอนมีสาระที่มีความหมายลึก และมีความงามแบบบทกวี เป็นงานที่มีคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และในเชิงวรรณศิลป์ 

จากการปฏิวัติคอมมูนปารีสปีค.ศ. 1871 ถึงการปฏิวัติสังคมนิยมรุสเซียปีค.ศ. 1917 การปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1936 สังคมโลกได้ผ่านการทดลองเรื่องการสร้างสังคมนิยมและสังคมอนาคิสม์มาหลายครั้ง มีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ในบางเรื่อง บางระดับ

การปฏิวัติรัสเซียเป็นแบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางโดยรัฐที่มีอำนาจผูกขาดตั้งแต่ปี 1917 ทำให้สหภาพโซเวียตรุสเซีย พัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมได้ค่อนข้างเร็ว

แต่ท้ายที่สุด (ปี 1991) 74 ปีต่อมา สหภาพโซเวียตก็ล้มเหลวเปลี่ยนกลับไปเป็นทุนนิยม ขณะที่การปฏิวัติสเปน ฝ่ายอนาคิสต์และสังคมนิยมในปี 1936 ต่อมาต้องพ่ายแพ้รัฐบาลทหารฝ่ายขวาจัด นายพลฟรังโกที่ได้รับการหนุนช่วยจากพวกฟาสซิสต์ เยอรมัน และอิตาลี

เราควรจะอ่านประวัติศาสตร์และบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของภาคประชาชนทั้งพวกสังคมนิยมและพวกอนาคิสต์ให้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาสังคมของโลกและของไทยในปัจจุบันและหาทางออกในอนาคต เพื่อความเสมอภาคและอิสระภาพของประชาชนส่วนใหญ่

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบผูกขาด (ทั้งทุนเอกชนและทุนโดยรัฐ) คือตัวการของปัญหาหลักของสังคมในโลกปัจจุบัน ทั้งสร้างวิกฤตความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม และวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลเสียหายต่อประชาชนส่วนใหญ่มาก 

สังคมอุตสาหกรรมทั้งทุนเอกชนและทุนโดยรัฐที่หลอกลวงว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแข่งขันและมีโอกาสร่ำรวยได้ ทั้งๆ ที่ความจริงคือ ทุนนิยมการผูกขาดและกึ่งผูกขาด ทั้งกดขี่เอารัดเอาเปรียบแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนจนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนรวยส่วนน้อยแต่อย่างไร

ระบบทุนนิยมโลกเน้นที่ความมั่งคั่งและการบริโภคสูงสุดของเอกชนแบบตัวใครตัวมัน ไม่ได้คิดถึงต้นทุนและผลเสียหายต่อสังคมในระยะยาวทำลายระบบธรรมชาติ/ระบบนิเวศอย่างมาก

ทางออกคือต้องสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม 

ระบบเศรฐกิจสังคมที่มีหลักการเหตุผล เป็นทางออกที่ดีได้ คือระบบสังคมนิยมอนาคิสต์ (ประชาชนจัดการตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ) แนวอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ (Green Anarchism/Eco- Anarchism) 

แนวคิดหลักคือ การกระจายอำนาจการปกครอง/บริหารสู่ชุมชน ประชาคม (Commune) ย่อยๆ ในแนวสหกรณ์และการบริหารในระบบประชาธิปไตยแนวราบเพื่อความเสมอภาคและอิสรภาพของประชาชน

คอมมูนต่างๆ ติดต่อค้าขายและร่วมมือกันทำกิจกรรมขนาดใหญ่ขึ้นหรือในระดับภูมิภาคในรูปของสหพันธ์ของคอมมูนต่างๆ แบบร่วมมือร่วมใจ เสมอภาค เป็นประชาธิปไตยและแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม

ระบบใหม่นี้มีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ข้อ คือ 1. ความเสมอภาค 2. ความเป็นอิสรภาพของประชาชน 3. คุณภาพชีวิต ความยั่งยืนของสังคมและระบบนิเวศ (ตรงข้ามกับมากกว่าความมั่งคั่งทางวัตถุที่เกินความจำเป็นในการยังชีพ) 

การจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ประชาชนต้องเข้าใจว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมนั้นมีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทุนนิยมและสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม/วางแผนจากส่วนกลาง และอดีตสหภาพโซเวียตรุสเซีย

เราสามารถออกแบบและสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย (สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ โอกาส) ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมอย่างแท้จริงได้ ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่ระบบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งผู้แทนไปเป็นเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภาในระบบทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่.