อัปเดตสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ภาคใต้ 5 จังหวัด เสี่ยงดินโคลนถล่ม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อัปเดตสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ น้ำอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก คุณภาพน้ำ แม่น้ำสายหลัก 4 สาย เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภาคใต้ 5 จังหวัด เสี่ยงดินโคลนถล่ม
อัปเดตสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผย น้ำอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก คุณภาพน้ำ แม่น้ำสายหลัก 4 สาย เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภาคใต้ 5 จังหวัด เสี่ยงดินโคลนถล่ม
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม
- ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,154 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,954 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
พร่องน้ำเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน 1 แห่ง
- ภาคใต้ บางลาง
คุณภาพน้ำ
- แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม 5 จังหวัด ภาคใต้
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จำนวน 5 จังหวัด
- นครศรีธรรมราช
- พัทลุง
- สตูล
- สงขลา
- ยะลา
แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฤดูฝนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมและพายุ ทำให้ฝนตกกระจายตัวในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อน ปัจจุบันภาพรวมปริมาณน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดย ณ วันที่ 1 พ.ย.67 ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันมากถึง 44,250 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3,863 ล้าน ลบ.ม.
จากปริมาณน้ำดังกล่าวทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกจากปีที่ผ่านมาได้อีก 1.2 ล้านไร่ รวมแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 10.02 ล้านไร่ เฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้ได้รวม 14,992 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วถึง 3,407 ล้าน ลบ.ม. มีการวางแผนสนับสนุนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไว้ประมาณ 6.47 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.55 ล้านไร่
ด้วยปริมาณน้ำที่เพียงพอในปีนี้ บางพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวก่อนวันที่ 1 พ.ย. 67 ซึ่งเกษตรกรได้ใช้น้ำจากช่วงน้ำหลากในการเพาะปลูก ทำให้สามารถปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องได้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 0.75 ล้านไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัดในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะนี้ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การปรับปฏิทินการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีถัดไป