'บอร์ดธนาคารที่ดิน' มีมติขยายเวลาลดหย่อนค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิ 5 ปี
"บอร์ดธนาคารที่ดิน" เห็นชอบขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม ออกไป 5 ปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรมีความต่อเนื่อง
วันนี้ (20 พ.ย. 67) คณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ที่มี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 10/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารเบญจสิริ ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. และประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Video Conference) โดยมีคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ในฐานะกรรมการและเลขานุการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา 3.1 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ขอขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในภารกิจของ บจธ. ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ฉบับลงวันที่ 24 ส.ค.2565 จะพ้นผลกำหนดการบังคับใช้ถึงวันที่ 8 มิ.ย. 2568
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานในการช่วยเหลือเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรมีความต่อเนื่อง ตลอดจนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรมตามภารกิจ จึงเห็นควรดำเนินการเพื่อเตรียมนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ บจธ. และคู่สัญญาได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการขอขยายระยะเวลาดำเนินการภารกิจของ บจธ. ตามร่างพระระราชกฤษฎีกาสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ......
นายกุลพัชร เปิดเผยว่า ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จะเสนอมติดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป