เมาไม่ขับ เตือน ประกันไม่คุ้มครอง หากชนแล้วเป่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
เมาไม่ขับ ขับขี่ปลอดภัย ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ "คารม" รองโฆษกรัฐบาล เตือนประกันไม่คุ้มครองหากชนแล้วเป่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
วันนี้ (30 ธ.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน และมีพี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้านฉลองปีใหม่จำนวนมาก กำชับทุกหน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัยอุบัติเหตุอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่ต้องปลอดจากแอลกอฮอล์ ตรวจเข้มเมาแล้วขับ โทรแล้วขับ และการขับขี่รถเร็ว
สำหรับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่เข้าข่าย “เมาแล้วขับ”
- เมื่อมีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และเสียค่าปรับเมาแล้วขับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าอายุน้อยกว่า 20 ปี มีเพียงใบขับขี่ชั่วคราว หรืออยู่ระหว่างพักใบขับขี่จะไม่ถือว่าเมาแล้วขับแต่เป็นการเมาสุราเท่านั้น
ส่วนอัตราโทษตามกฎหมายของการเป่าแอลกอฮอล์เกินกำหนดนั้น คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ค่าปรับเมาแล้วขับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
หากไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์จะถือว่าเป็นการเมาแล้วขับทันที โทษจะเหมือนกันกับการเมาแล้วขับคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ค่าปรับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
นอกจากนี้ หากเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุให้ได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี ค่าปรับเมาแล้วขับ 20,000 - 100,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนถาวร หรือหากทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 6 ปี ปรับ 40,000 - 120,000 บาท พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนถาวร หากทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย ในข้อนี้ถือว่าเป็นโทษที่หนักหนาที่สุด ต้องถูกจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี ค่าปรับเมาแล้วขับ 60,000 - 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตถาวร
“การเมาแล้วขับเป็นการกระทำที่ประมาทอย่างมาก บริษัทประกันภัยต่าง ๆ จะไม่คุ้มครองหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่จะมีการจ่ายไปที่คู่กรณีแทนและจะไปเพิ่มเบี้ยกับเจ้าของรถที่มีชื่อในกรมธรรม์แทน การเมาแล้วขับนับได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้อื่น และมีโทษตามกฎหมายที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับ หากจำเป็นต้องขับรถกลับจริง ๆ อาจจะต้องใช้บริการคนขับตามแอปพลิเคชัน ให้คนที่มีสติมาขับแทนหรือพักผ่อนให้สร่างเมาเสียก่อนจะดีกว่า การป้องกันปัญหาด้วยการไม่ดื่มก่อนขับรถคือสิ่งที่ดีที่สุด เพียงเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือเรียกรถแท็กซี่ เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้” นายคารม กล่าว