4 ม.ค. 68 "โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี" ระยะห่างประมาณ 147 ล้านกิโลเมตร
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย 4 มกราคม 2568 "โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี" ระยะห่างประมาณ 147 ล้านกิโลเมตร
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า วันที่ 4 มกราคม 2568 เป็นวันที่ "โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี" ระยะห่างประมาณ 147 ล้านกิโลเมตร
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นวงรี และดวงอาทิตย์ไม่ได้อยู่ตรงศูนย์กลางวงรีพอดี ดังนั้นมี 2 ตำแหน่งที่โลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด และไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบ 1 ปี จุดที่ใกล้ที่สุด เรียกว่า Perihelion และจุดที่ไกลที่สุด เรียกว่า Aphelion
ในวันนี้ (4 มกราคม 2568) ดวงอาทิตย์จะขึ้นตอนเวลา 06.42 น. และตกเวลา 18.03 น. ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จุดนี้หลายคนในเมืองไทยมักสับสนและเข้าใจผิดว่า ฤดูหนาวเป็นเพราะโลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์ แต่ที่จริงแล้วตรงกันข้าม ฤดูหนาวของประเทศไทยโลกจะอยู่ในจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากสุด ดังนั้นฤดูหนาวไม่ได้เกิดเพราะโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด และฤดูร้อนไม่ได้เกิดเพราะโลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
เนื่องจากแกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบตั้งฉากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณต่างกัน ทำให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก