เช็กพื้นที่ 70 จังหวัด เฝ้าระวังอุณหภูมิลดลง น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 10 -13 ม.ค. 68

เช็กพื้นที่ 70 จังหวัด เฝ้าระวังอุณหภูมิลดลง น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 10 -13 ม.ค. 68

ปภ. แจ้ง 70 จังหวัดเฝ้าระวังอุณหภูมิลดลง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 10 -13 ม.ค. 68 เร่งประสานพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือ

วันนี้ (9 ม.ค. 68) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลง และจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 10-13 ม.ค. 68 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์และวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 

เช็กพื้นที่ 70 จังหวัด เฝ้าระวังอุณหภูมิลดลง น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 10 -13 ม.ค. 68
 

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (1/2568) ลงวันที่ 8 ม.ค. 68 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 10 - 13 มกราคม 2568 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้อุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5 - 7 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2 - 5 องศาเซลเซียส ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 10 - 13 มกราคม 2568 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลง

บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

ภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และอำเภอลานสกา) พัทลุง (อำเภอป่าบอน ศรีนครินทร์ และอำเภอกงหรา) สงขลา (อำเภอระโนด ควนเนียง จะนะ นาทวี สะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย) ปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี ไม้แก่น กะพ้อ ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง ปะนาเระ หนองจิก และอำเภอมายอ) ยะลา (อำเภอเมืองยะลา กรงปินัง ธารโต บันนังสตา ยะหา และอำเภอรามัน) และจังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส บาเจาะ ศรีสาคร เจาะไอร้อง ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ จะแนะ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี และอำเภอตากใบ)

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 

ภาคใต้ จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ) ชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร ปะทิว สวี ทุ่งตะโก หลังสวน และอำเภอละแม) สุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไชยา ท่าชนะ ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ เกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง และอำเภอหัวไทร) สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ และอำเภอเทพา) ปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี และอำเภอไม้แก่น) และจังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอตากใบ) 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นทีเสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเจ้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด พร้อมให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ ให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลงนั้น กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ให้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เพื่อป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น  
ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลสถานการณ์ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด  โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และทางสื่อสังคมออนไลน์บัญชีทางการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป