นายกฯ ย้ำเตรียมรับมือ PM2.5 ช่วง 60 วันอันตราย แม้สถานการณ์ดีขึ้น

นายกฯ ย้ำเตรียมรับมือ PM2.5 ช่วง 60 วันอันตราย แม้สถานการณ์ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แม้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังย้ำเตรียมรับมือ ช่วง 60 วันอันตราย

วันนี้ (19 มี.ค. 68)  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เข้าติดตามความสำเร็จการดำเนินงานรับมือและบริหารจัดการ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ณ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ

นายกฯ ย้ำเตรียมรับมือ PM2.5 ช่วง 60 วันอันตราย แม้สถานการณ์ดีขึ้น

การบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5

นายกรัฐมนตรีได้รับฟังผลการรับมือและการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จาก นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ โดยได้รายงานการดำเนินงานตามนโยบายและข้อสั่งการ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์จุดความร้อนทั่วประเทศลดลงกว่า 16% และสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 บรรเทาลง

การจัดการไฟในพื้นที่ป่า ทส. ได้รับจัดสรรงบกลางเพื่อใช้ในการบริหารจัดการในพื้นที่ป่ารวม 620 ล้านบาท เพื่อลาดตระเวน ตั้งจุดเฝ้าระวัง และดับไฟป่า ลงพื้นที่แบบเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจ “ห้ามเผาป่า” กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่า ส่งผลให้จุดความร้อนในพื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

การจัดการในพื้นที่เกษตร ภายหลังการสั่งห้ามเผาเด็ดขาด พบว่าจุดความร้อนในพื้นที่นาข้าวลดลง จุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลงร้อยละ 22 มาตรการงดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ลดลงเหลือร้อยละ 14 (ปีที่ผ่านมาร้อยละ 29)

นายกฯ ย้ำเตรียมรับมือ PM2.5 ช่วง 60 วันอันตราย แม้สถานการณ์ดีขึ้น

การควบคุมฝุ่นละอองในพื้นที่เมือง จัดให้มีเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีสีเขียว เข้าพื้นที่ในช่วงวิกฤตฝุ่น ยกระดับมาตรฐานค่าควันดำรถยนต์และรถโดยสารจากเดิมไม่เกินร้อยละ 30 เป็นไม่เกินร้อยละ 20 ปลดล็อคระยะเวลาการปรับปรุงควันดำจากภายใน 30 วันเหลือ 15 วัน และปรับปรุงมาตรการห้ามใช้รถควันดำเด็ดขาด รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานสำหรับรถยนต์เบนซินขนาดเล็กเป็นยูโร 6 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568

การจัดการหมอกควันข้ามแดน ได้ขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านผ่านสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEC) และสถานฑูตไทยในเมียนมา รวมทั้งเปิด hot line ไทย ลาว เมียนมา ระดับอธิบดี และความร่วมมือผ่านคณะกรรมการชายแดน ส่งผลให้จุดความร้อนประเทศเพื่อนบ้านลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วประเทศไทยมีจุดความร้อนลดลงจาก 2 ปีที่ผ่านมา

และสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ดีกว่าปีที่ผ่านมา ในส่วนของกรุงเทพมหานครถือว่าพ้นภาวะวิฤกติแล้ว และแม้ว่าฝุ่นละออง PM2.5 ยังเป็นปัญหาในพื้นภาคเหนือแต่จำนวนวันที่ PM2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงพบมากในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีการพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในประเทศทุกหน่วยงานมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่นๆ ทำให้ปีนี้ค่าฝุ่นควันเราลดลงอย่างมาก ซึ่งทำให้จุดความร้อนทั่วประเทศลดลง 16% และบางพื้นที่ลดลง 20% เป็นผลมาจากมาตรการเชิงรุก รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในเรื่องของการเผา และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นายกฯ ย้ำเตรียมรับมือ PM2.5 ช่วง 60 วันอันตราย แม้สถานการณ์ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 60 วันต่อจากนี้ ที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าเป็น 60 วันอันตราย ฝุ่นควันจะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากน้ำฝนจะลดลง รัฐบาลได้เน้นย้ำให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมรับมือสถานการณ์ ให้กระทรวงสาธารณะสุขดูแลและจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตน สำหรับผู้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติงบกลาง 620 ล้านบาท ให้กับกระทรวงทรัพยากรฯ ทำให้การเกิดจุดความร้อนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และทั้งหมดเป็นแผนงานที่ทราบและเตรียมการไว้ ดังนั้น จึงต้องวางเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ และเมื่อมีการวางแผนเรื่องงบประมาณ เชื่อว่าจะจัดการได้ดีในปีต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ปัญหาฝุ่นควันถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักที่จะดูแลเรื่องนี้ สุดท้ายนายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับผู้บริหารและอธิบดี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในภูมิภาค ทั้งนี้ ประชาชนมั่นใจได้ว่าปัญหาฝุ่นควันกำลังได้รับการดูแลอย่างจริงจัง พร้อมทั้งมีมาตรการรองรับและเตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ของประเทศ