ปภ. แจ้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 65

ปภ. แจ้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 65

ปภ. แจ้งจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20 – 24 ส.ค. 65

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 65 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงได้แจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 20 – 24 สิงหาคม 2565 ดังนี้ 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง ได้แก่

▪ ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมย แม่สะเรียง) เชียงราย (อำเภอเชียงของ เชียงแสน) เชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) น่าน (อำเภอปัว เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง บ่อเกลือ) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย วัดโบสถ์) อุตรดิตถ์ (อำเภอทองแสนขัน น้ำปาด) ตาก (อำเภอท่าสองยาง) และเพชรบูรณ์ (อำเภอชนแดน วังโป่ง)

▪ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอท่าคันโท สามชัย) นครพนม (อำเภอเมืองฯ ท่าอุเทน ธาตุพนม บ้านแพง ปลาปาก โพนสวรรค์ วังยาง ศรีสงคราม) บึงกาฬ (อำเภอเมืองฯ เซกา โซ่พิสัย บึงโขงหลง บุ่งคล้า ปากคาด พรเจริญ ศรีวิไล) สกลนคร (อำเภอคำตากล้า บ้านม่วง พรรณนานิคม พังโคน โพนนาแก้ว เมืองฯ วานรนิวาส อากาศอำนวย) หนองคาย (อำเภอเมืองฯ เฝ้าไร่ โพนพิสัย) และอุดรธานี (อำเภอบ้านดุง วังสามหมอ สร้างคอม)
 

▪ ภาคกลาง จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองฯ ปากพลี) ปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม กบินทร์บุรี) ระยอง (อำเภอแกลง) จันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ นายายอาม แหลมสิงห์) และตราด (อำเภอเมืองฯ เกาะกูด เกาะช้าง) 

▪ ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส (อำเภอจะแนะ แว้ง ศรีสาคร สุคิริน ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ) ปัตตานี (อำเภอทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ ยะรัง ยะหริ่ง) และยะลา (อำเภอเมืองฯ กรงปินัง ธารโต บันนังสตา เบตง รามัน)  

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่
 บริเวณแม่น้ำสายหลัก  และลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโก-ลก

พื้นที่เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ 

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ 
  • อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง 
  • อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก 
  • บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 
  • อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร 
  • อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 
  • อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี 
  • อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
  • อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง 

รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและท่วมฉับพลัน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ห้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป