จับตาขบวนการไล่ “ประยุทธ์” คู่ขนาน "ศาล รธน." ตัดสิน
ถ้ามองตามความจริง การดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่า 8 ปีจะครบในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้า “ตีความ”ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นข้อถกเถียง ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้ตัดสิน
เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสที่ถูก “ปลุกเร้า” ทางสังคมจาก “สองฝ่าย” คือ ฝ่ายที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ กับฝ่ายต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ พอแล้ว จึงกลายมาเป็นกระแสคู่ขนาน ทันที
ที่สำคัญ ถ้าไม่นับว่า มีเรื่องของ การตีความกฎหมาย เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งสองกระแสก็คือ เอาหรือไม่เอา “ประยุทธ์” นั่นเอง
และแม้ว่า จะมีการตีความกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง การตีความกฎหมาย ก็ยังออกมา “สองด้าน” ตามที่ “สองฝ่าย”ต้องการอยู่ดี เพียงแต่มีผู้รู้มา “การันตี” เท่านั้นเอง และทั้งสองฝ่ายต่างก็มีผู้รู้ของตัวเอง จนทำเอาประชาชนทั่วไปเริ่มสับสน ว่า แท้จริง คืออะไรกันแน่
ระหว่างการนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น จึงถือว่ายังไม่ครบ 8 ปี กับการเริ่มนับตั้งแต่ เป็นนายรัฐมนตรีครั้งแรก ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะครบในวันที่ 24 สิงหาคมนี้
แต่ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะคิด หรือเชื่ออย่างไร ก็ไม่มีอำนาจตัดสิน “ผิด-ถูก” ทั้งสิ้น เพราะผู้มีอำนาจชี้ขาดถือเป็นที่สุดแต่เพียงผู้เดียวก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นั่นเอง
ประเด็นก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ตรงตามความต้องการหรือไม่ แค่ไหน?
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแส “กดดันคู่ขนาน” เพื่อให้เห็นว่า ประชาชนให้ความสนใจ และต้องการ “คำตัดสิน” ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการ “ครอบงำ” จากผู้มีอำนาจ
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความพยายามปลุกกระแส “พล.อ.ประยุทธ์พอได้แล้ว” โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ ระบุว่า
“กติกาทางสังคมเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีรวมกันต้องไม่เกิน 8 ปี เป็นเจตนารมณ์ที่ก้าวหน้าของทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560
วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นับว่าครบ 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจน ท่านรับเงินเดือนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปีแล้ว ท่านใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี ท่านรับสวัสดิการจากภาษีประชาชนในฐานะนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว จึงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะก้าวลงจากตำแหน่งอย่างมีศักดิ์ศรีตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560
ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ยังเหลืออยู่นี้ ชมรมแพทย์ชนบทขอเชิญชวนให้ทุกองค์กรในสังคมไทย ร่วมกันแสดงออก สร้างกระแส “8 ปี พอแล้ว” กันให้กระหึ่ม
ประเทศไทยยังมีคนดีคนเก่งที่สามารถทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้จำนวนไม่น้อย ขอให้นายกประยุทธ์มีสำนึกประชาธิปไตยก้าวลงจากตำแหน่งตามกติกาอย่างคนรู้จักพอ เปิดทางให้เมืองไทยเดินไปข้างหน้า เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยได้เติบโต
8 ปีแล้ว พอเถอะนะ นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน มีการนัดหมายม็อบกดดันเอาไว้แล้วของ “คณะหลอมรวมประชาชน” ซึ่งมี “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา เป็นแกนนำ
ทั้งนี้จากการจัดกิจกรรม “ประยุทธ์ต้องไป คนไทยลุกขึ้นสู้” เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และวันที่ 23 สิงหาคม เวลา 17.00 น. และลากการชุมนุมไปถึงเวลาเที่ยงคืน
“ชะตากรรมความเลวร้ายของประเทศนี้ไม่มีใครช่วยพี่น้องได้ ไม่มีสิ่งใดมาทำให้ประเทศไทยพ้นทุกข์ได้ ไม่มีสิ่งใดมาทำให้พี่น้องพ้นจากความยากลำบากได้ มีแต่พี่น้องเท่านั้นที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับชีวิตของพี่น้องเอง” จตุพรปลุกเร้า
ที่ถือว่าเป็นแนวทางการตีความกฎหมายของฝ่ายที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมนี้
ก็คือ การเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ของอาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณี การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี
สาระสำคัญ ระบุว่า “ความเห็นทางกฎหมายจากอาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย เรื่องการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อกฎหมายในเรื่องการดำรงตำแหน่งไม่เกินแปดปีของนายกรัฐมนตรี
เรียน ท่านประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เคารพ
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ …”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะเป็นนายกรัฐมนตรีครบระยะเวลา 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จึงเกิดประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังจากวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ได้หรือไม่ ?
โดยที่การวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังรายนามข้างท้าย มีความเห็นทางกฎหมายที่ใคร่ขอเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการพิจารณา โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
1.ประเด็นสำคัญที่สุดในเบื้องต้นที่ต้องพิจารณาคือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ ?
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 264 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ..”
เมื่อมาตรา 264 บัญญัติไว้เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ จึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และดังนั้น จึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” หมายความว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี
ทั้งนี้ ตามหลักการนับระยะเวลาที่จะไม่นับวันแรกที่เริ่มดำรงตำแหน่งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และจะต้องเป็นไปตามมาตรา 170 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่อง “การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี” ที่ได้บัญญัติไว้ในวรรคสองว่า “ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย”
ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ก็ต้องพ้นตำแหน่งทันทีในวันถัดไป เว้นแต่ว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้
2.ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไม่ให้มาตรา 158 วรรคสี่ ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้หรือไม่ ?
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีเพียงมาตรา 264 มาตราเดียวที่บัญญัติในเรื่องนี้เอาไว้ โดยมาตรา 264 วรรคสองได้กำหนดยกเว้นคุณสมบัติต่าง ๆ ของรัฐมนตรีที่ไม่ให้ใช้กับรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ดังต่อไปนี้คือ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (6) “เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15)” และ “ต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4)
แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15)” และยกเว้นมาตรา 170 (5) “เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1)” ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการยกเว้นมาตรา 170 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
“ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย” ไว้แต่ประการใด และไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญนี้ที่ยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ มิให้ใช้บังคับแก่นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย
ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมิได้ยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ มิให้ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น
3.สำหรับความเห็นที่ว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เพราะการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้นั้น ตามหลักกฎหมายแล้วควรต้องพิจารณาอย่างไร ?
การใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลไม่อาจทำได้นั้น เป็นหลักการที่ถูกต้องถ้าเป็นเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกินกว่า 8 ปีนั้น เป็นเรื่อง “การควบคุมและการจำกัดอำนาจ” ซึ่งการตีความจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่นคือหากเป็นเรื่องอำนาจ การตีความจะมุ่ง “ควบคุม”
ขณะที่ถ้าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ การตีความจะมุ่ง “คุ้มครอง” และเพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องมีการควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐบาล
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่นั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ระบุไว้ว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้” (ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พทุธศักราช 2560, น.275)
ดังนั้น การตีความในเรื่องการห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่งเป็นเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไปจน “เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง” จึงต้องตีความในทางควบคุมอำนาจ
นั่นคือต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่เขียนไว้โดยเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี และไม่ได้ยกเว้นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น นั่นคือต้องนำระยะเวลาดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ “รวมกัน” เข้าไปด้วย
กรณีนี้ สามารถเทียบเคียงได้กับการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พ้นจากตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่หมดวาระ
หรือการกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ในการเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา ก็เป็นเรื่องที่ทำได้และได้ทำมาแล้วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ดังเช่น กรณี ส.ส. สิระ เจนจาคะ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะมี “ลักษณะต้องห้าม” ไม่ให้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) คือ “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา”
ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องควบคุมและจำกัดอำนาจ จึงสามารถทำได้ กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติว่า
“ถ้าพ้นจากตําแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเดิมหรือตําแหน่งใหม่ ภายในหนึ่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน … แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้น้ันจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน” ซึ่งโดยข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไม่เปิดเผย แม้จะมีการร้องขอจากสาธารณะ
โดยให้เหตุผลว่า ปปช.ไม่มีอำนาจเปิดเผย นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว และดำรงตำแหน่งต่อ ทำให้ได้ประโยชน์จากมาตรา 105 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 “รวมกัน” เข้าไปด้วย
สรุป รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีมิได้ ซึ่งเป็นเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไป “จนเกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่
โดยที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มิได้มีการยกเว้นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ก็ต้องพ้นตำแหน่งทันทีในวันถัดไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 170 วรรคสอง
หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 82 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า … ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ … ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
นั่นคือหากถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2565 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็จะต้องพิจารณามีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย...”
นี่ไม่เพียง ตีความข้อกฎหมายตามแนวทางของตัวเองเท่านั้น หากแต่ยัง “โต้แย้ง” การตีความของฝ่ายที่เห็นต่างเอาไว้เรียบร้อย
นอกจากนี้ กรณีเครือข่ายนักวิชาการ 8 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสื่อมวลชน 8 แห่ง ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ พีพีทีวี The Standard, the Matter, the Momentum และ the Reporters จัดให้มีการโหวตเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ก็ถือว่า เป็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่ง
โดยถามประชาชนว่า “การวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะประชาชน ท่านเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีหรือไม่?”
โดยเปิดให้โหวตเวลา 06.00 น. วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม และปิดโหวตเวลา 24.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2565 และประกาศผล วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565
นั่นก็เท่ากับว่า กระแสกดดันพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มทำงานพร้อมกันทุกสาย และมีเป้าหมายอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์หมดเวลาที่จะไปต่อ หลังวันที่ 24 สิงหาคม นั่นเอง
ประเด็นจึงน่าสนใจว่า ถ้า “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ครบ 8 ปี จะเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อดูจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่เดาได้ไม่ยากก็คือ ความขัดแย้งรุนแรงของ “สองฝ่าย” จะทับเท่าทวีคูณอย่างแน่นอน และกระแสกดดันพล.อ.ประยุทธ์ จะ “ขยายวง” อย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น “เหยื่ออันโอชะทางการเมือง”
เหนืออื่นใด ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่เพียงเป็นผู้จบเรื่องนี้เท่านั้น หากแต่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ของปัญหาความขัดแย้งได้มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย