ส่อง "ดาวพฤหัสบดี" กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นรายละเอียดชัดๆ

ส่อง "ดาวพฤหัสบดี" กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นรายละเอียดชัดๆ

ส่องภาพล่าสุด "ดาวพฤหัสบดี" ที่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นรายละเอียดสุดคมชัด ครบจบในภาพเดียว!

วันที่ 22 สิงหาคม 2022 NASA เผยแพร่ภาพล่าสุดจาก กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) แสดงให้เห็นรายละเอียดสุดคมชัดของ "ดาวพฤหัสบดี" ทั้งวงแหวนของดาวที่มีความสว่างน้อยกว่าตัวดาวนับล้านเท่า รวมถึงดวงจันทร์ขนาดเล็กอีก 2 ดวง

 

 

ภาพนี้ถ่ายโดยกล้อง NIRCam ประมวลผลขึ้นจากภาพถ่ายผ่านฟิลเตอร์กรองแสงในช่วงอินฟราเรด ได้แก่ ฟิลเตอร์ F212N เป็นส่วนสีส้มของภาพ และ F335M เป็นส่วนสีฟ้าของภาพ

 

ขณะที่ความสว่างของแต่ละตำแหน่งบนแถบเมฆ แสดงถึงระดับความสูงของชั้นเมฆ สีขาวจะเป็นชั้นเมฆฝุ่นที่มีระดับความสูงมากที่สุด ปรากฏเด่นชัดที่แนวเส้นศูนย์สูตรของดาว รวมถึงพายุยักษ์ใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ที่รู้จักกันในชื่อ "จุดแดงใหญ่ (The Great Red Spot)" ในภาพนี้ก็ปรากฏให้เห็นเป็นพายุสีขาวสว่างเนื่องจากเป็นพายุฝุ่นที่อยู่ระดับสูงเช่นกัน 

 

บริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาว มีแสงออโรราที่สว่างเด่นชัดในช่วงคลื่นอินฟราเรดและเกิดการเลี้ยวเบนออกไปนอกอวกาศ ปรากฏเป็นแนวแสงที่ออกจากบริเวณขั้วดาวทั้งสองด้าน ขนานกับระนาบวงแหวนของดาว และหากสังเกตบริเวณภายในวงแหวนของดาวจะมีจุดสว่างเล็ก ๆ แทรกอยู่ 2 จุด นั่นคือดวงจันทร์ขนาดเล็กของดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ดวงจันทร์ Amalthea (ซ้าย) และดวงจันทร์ Adrastea (ขวา)

 

ส่อง \"ดาวพฤหัสบดี\" กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นรายละเอียดชัดๆ

 

 

และไม่เพียงเท่านั้น หากสังเกตบริเวณอวกาศพื้นหลังของดาวพฤหัสบดี จะมีจุดสว่างจาง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป นั่นคือ "กาแล็กซีอื่น" ที่อยู่ไกลออกไปอีกหลายล้านปีแสง เป็นอีกหนึ่งภาพที่ตอกย้ำว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังที่สุดแห่งยุคสมัยนี้

 

ส่อง \"ดาวพฤหัสบดี\" กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นรายละเอียดชัดๆ


รายละเอียดของแต่ละวัตถุที่ปรากฏในภาพถ่าย (ภาพ: NASA, ESA, CSA, Jupiter ERS Team; image processing by Ricardo Hueso (UPV/EHU) and Judy Schmidt)

 

อ้างอิง : https://blogs.nasa.gov/.../webbs-jupiter-images-showcase.../

 

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

ที่มา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ