ความมั่นคงธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโอกาสและการปรับตัว | พิกุล ศรีมหันต์

ความมั่นคงธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโอกาสและการปรับตัว | พิกุล ศรีมหันต์

ถ้าพูดถึงชุดนักเรียนกับอสังหาริมทรัพย์ หลายคนคงนึกไม่ออกว่า 2 อย่างนี้จะมีความเชื่อมโยงได้อย่างไร แต่ทั้ง 2 อย่างเป็นธุรกิจสำคัญของบริษัท น้อมจิตต์ อินคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจมีเส้นทางเริ่มต้นจากที่เดียวกันและเกิดเป็นการต่อยอดที่น่าสนใจมาก

จุดเริ่มต้นของชุดนักเรียนน้อมจิตต์ที่ทุกคนคุ้นเคยเริ่มมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ของคุณอนันต์ จิตรมีศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้อมจิตต์ อินคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งชื่อตามคุณแม่ 

    ย้อนไปเมื่อช่วงก่อนปีพ.ศ. 2504 ที่ย่านบางกระบือ ซึ่งเป็นย่านตลาดที่คึกคัก เพราะว่ามีกรมทหารอยู่แถวนั้น คุณแม่ของคุณอนันต์ ทำธุรกิจขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งมีลักษณะการผลิตสินค้าในรูปแบบที่เรียกกันว่า “เสื้อผ้าโหล” ครั้นเมื่อมีโอกาสได้ไปเจอร้านขายชุดนักเรียนที่ขายอยู่บริเวณวงเวียนใหญ่

คนต้องมาต่อแถวซื้อที่ร้าน และเข้าร้านได้จำนวนน้อยมาก ๆ ในแต่ละครั้ง ก็เลยสนใจจะนำทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้าโหลที่มีอยู่ เกิดเป็นไอเดียและนำมาปรับใช้กับการตัดเย็บชุดนักเรียนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

จุดที่สร้างความแตกต่างให้กับชุดนักเรียนน้อมจิตต์ในยุคบุกเบิกก็คือ การมีไซส์ชุดนักเรียนที่หลากหลายมากกว่า S,M,L,XL แต่ย่อยไปถึงขนาดความกว้างของไหล่ บ่า เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่เหมาะกับสรีระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุดนักเรียนในยุคนั้นไม่มีมาก่อน

    เมื่อมาบวกกับทักษะในการทำเสื้อผ้าโหลที่มีอยู่เดิม ทำให้ชุดนักเรียนน้อมจิตต์เป็นที่นิยม

    แต่ชุดนักเรียนก็มีฤดูกาลของการขาย คือ 2 ครั้งต่อปี ในช่วงเปิดเทอม ดังนั้น ในช่วงเวลาอื่น ร้านน้อมจิตต์ก็จะขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบอื่น ๆ  แต่เมื่อถึงฤดูกาลเปิดเทอม ก็จะเปลี่ยนมาขายเฉพาะชุดนักเรียนเพียงอย่างเดียวเพราะเป็นช่วงที่ลูกค้ามีความต้องการสินค้าอย่างมาก

    แม้จะเป็นสินค้าที่ขายแบบ Seasonal ที่มีช่วงเวลาจำกัด แต่ในแง่ของการผลิตนั้น จำเป็นต้องผลิตสินค้าครั้งเดียวต่อปี และสต็อกสินค้าให้ครอบคลุมเพียงพอต่อการขายทั้งปี เพราะไม่ใช่สินค้าที่จะต้องผลิตใหม่อยู่ตลอดเวลาได้เรื่อย ๆ

ความมั่นคงธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโอกาสและการปรับตัว | พิกุล ศรีมหันต์

เมื่อความต้องการสินค้ามากขึ้น และเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ร้านน้อมจิตต์จึงขยายสาขาไปขายที่บางกะปิตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นย่านโรงเรียนและชุมชนที่คนอยู่กันหนาแน่น
    
จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น เมื่อย้ายไปที่บางกะปิ เพราะทางคุณพ่อของคุณอนันต์ ได้ซื้ออาคารเริ่มต้นที่จำนวน 10 คูหาเพื่อตั้งร้านค้า กลายเป็นห้างน้อมจิตต์ขึ้นมาที่นอกจากขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและชุดนักเรียนแล้ว ยังเป็น Department Store และเมื่อขยายคูหาเพิ่มขึ้น ก็ได้เปิดพื้นที่ให้เช่าเพื่อให้มีร้านอื่น ๆ เข้ามาในห้างด้วย

    จากธุรกิจเสื้อผ้าจึงเริ่มขยับมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
    ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เริ่มมีห้างใหญ่ ๆ มาเปิดที่บางกะปิหลายแห่ง ทำให้มือใหม่หัดทำอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อมจิตต์ต้องสะเทือนอยู่เหมือนกัน

จุดนี้เองที่ธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มได้เข้ามาเป็นทีมเดียวกับน้อมจิตต์ ในการหาทางช่วยให้ธุรกิจสู้ต่อได้ ซึ่งทำให้ห้างน้อมจิตต์เองก็ปรับตัวด้วยการลงทุนรีโนเวทสถานที่ใหม่ให้น่าดึงดูดกว่าเดิม และปรับชื่อให้เป็น N Mark Plaza

    พอมาถึงยุคต้มยำกุ้ง กลายเป็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของน้อมจิตต์ยิ่งบูมกว่าเดิม เพราะหนุ่มสาวพนักงานออฟฟิศที่ตกงานพากันมาลงทุนเปิดร้าน จึงมาเช่าพื้นที่ในห้างเปิดร้านเล็ก ๆ กันเป็นจำนวนมาก กลายเป็นว่าในช่วงวิกฤตินั้นกลับเป็นเวลาที่ N Mark Plaza เติบโตกว่าเดิม

ความมั่นคงธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโอกาสและการปรับตัว | พิกุล ศรีมหันต์

ต่อมาเมื่อไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยน ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นมากมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนด้านการคมนาคมในย่านบางกะปิ  น้อมจิตต์เองจึงจำเป็นต้องปรับตัวตาม โดยเริ่มปรับในส่วนของ Landscape ต่าง ๆ เพื่อสร้าง Traffic ให้ผู้คนเดินผ่านเข้ามามากขึ้น

รวมถึงการขยายธุรกิจไปสู่ ห้าง Happy Land Center ที่ซื้อต่อมาและค่อย ๆ ปรับปรุง แก้ไขในส่วนต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมดจากประสบการณ์ที่ทำมา 

ในช่วงโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ น้อมจิตต์เองก็ยินดีที่จะช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าที่ เพื่อให้ร้านค้าที่มาเช่าที่ยังคงอยู่รอดได้ เพราะรู้ว่าร้านค้าต้องลำบากกว่าเดิมที่ไม่มีลูกค้า ถ้ารักษาร้านค้าไว้ได้ ธุรกิจของน้อมจิตต์ก็จะอยู่ได้เช่นกัน

รวมถึงการหันมารีโนเวทห้างให้มีความเป็นแหล่ง Hangout และใส่ความเป็น Entertainment มากขึ้น คือไม่ใช่แค่เป็นสถานที่ที่คนมาซื้อของ แต่เน้นให้คนที่เดินทางผ่านไปมาในบริเวณนั้นเพื่อใช้ในการพบปะสังสรรค์หลังเลิกงาน เป็นอีกหนึ่ง Destination ที่ให้คนแวะก่อนกลับบ้าน

    นอกจากนั้น สิ่งที่ได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่เป็นเหมือน Know-How เฉพาะตัวในด้านการบริหารจัดการเงินก็คือ การบริหารเงินสดที่ดีที่ทางน้องชายคือคุณอเนก จิตรมีศิลป์ ได้มีการจัดสรรที่มีและแบ่งเป็นกองทุนสำหรับเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการมีคู่คิดที่อยู่เคียงข้างมาตลอดหลายสิบปีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ทำให้น้อมจิตต์สามารถปรับตัวผ่านวิกฤติมาได้ทุกยุคทุกสมัย

    ถ้าดูเส้นทางการเดินทางของน้อมจิตต์จากธุรกิจเสื้อผ้าและขยายมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าแม้ 2 ธุรกิจนี้จะแตกต่างกันมาก แต่หัวใจของการทำธุรกิจคือการปรับตัวอยู่เสมอ ไม่มีกรอบบังคับว่าต้องทำธุรกิจใดธุรกิจเดียว แต่ดูจากโอกาสที่อยู่ตรงหน้า และปรับธุรกิจตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ธุรกิจก็สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง.
คอลัมน์  SME Game Changer - พลิกเกมธุรกิจ SME 
พิกุล ศรีมหันต์ 
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 
กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์