"ฝนตกหนัก" น้ำป่าเขาใหญ่ไหลทะลักท่วมบ้านปชช. ต.สาริกา - ต.หินตั้ง จ.นครนายก
"ฝนตกหนัก" น้ำป่าจากเขาใหญ่ไหลทะลักท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตตำบลสาริกา - ตำบลหินตั้ง จ.นครนายก ได้รับความเสียหาย
วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เมื่อเวลา 04.30 น. ได้เกิดเหตุมี "น้ำป่าไหลหลาก" ลงสู่แม่น้ำนครนายก เอ่อท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชน รีสอร์ทต่าง ๆ ในเขตตำบลสาริกา และตำบลหินตั้ง ทางศูนย์วิทยุเมืองนายกจึงประสานศูนย์กู้ภัยฯทุกหน่วยให้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ในจุดที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำป่าหลากเป็นการด่วน
โดยเมื่อเวลา 08.00 น. สัญญาณโครงการเฝ้าระวังและเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม สถานีเตือนภัย หมู่ 1 บ้านดง ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก ที่ตั้งอยู่ที่สะพานวังตะไคร้ยังร้องแจ้งเตือนถึงปริมาณน้ำและระดับที่เพิ่มสูงขึ้น หลังเกิดน้ำป่าไหลหลากมาตั้งแต่ช่วงเวลา 04.00 น.เช้ามืดวันนี้ ด้าน นายกอบต.สาริกา ออกสำรวจพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ อปพร. บรรเทาสาธารณะภัย พร้อมประสานกู้ภัยคอยให้การช่วยเหลือชาวบ้านและนักท่องเที่ยว
ตั้งแต่เวลา 05.30 น. นายชุมพลภัทร์ เลาหะพานิช นายก อบต.สาริกา ลงพื้นที่ตำบลสาริกา พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่แหล่งน้ำตามจุด ๆ ต่าง และบ้านเรือนประชาชน หลังเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาตามแหล่งน้ำสำคัญต่าง ๆ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนและบนถนนสายนครนายก-สาริกา ช่วงศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จนเกือบถึงกลางถนน
ขณะที่ปริมาณน้ำที่สะพานวังตะไคร้เริ่มลดระดับความสูงและความแรงลงตามลำดับ ส่วนที่อุทยานน้ำตกนางรองประมาณน้ำและระดับความแรงยังอยู่ในระดับรุนแรงถึงวิกฤติ ทางเจ้าหน้าที่ได้ปักธงแดงและสั่งห้ามลงหรือเข้าใกล้กระแสน้ำเนื่องจากอันตราย
นายชุมพลภัทร์ เลาหะพานิช นายก อบต.สาริกา เผยว่า น้ำป่าได้ไหลเข้าท่วมช่วงเวลาประมาณ ตี 4 - ตี 5 โดยสถานการณ์ตอนนี่เข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากมีน้ำป่าไหลหลากลงมาในพื้นที่ ปริมาณฝนตกในพื้นที่แหล่งต้นน้ำที่อยู่พื้นที่ป่าเขาใหญ่ปริมาณมาก ส่งผลให้ธุรกิจรีสอร์ทที่อยู่ติดริมน้ำมีน้ำทะลักเข้าท่วม
สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกในพื้นที่ยังตกอยู่และยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดตกในเร็ว ๆ นี้ และจากการดูพยากรณ์อากาศพบว่ามีกลุ่มเมฆฝนที่มาจากพายุที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ยังอยู่ในพื้นที่นี้อยู่ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างคลองมะเดื่อ น้ำตกวังตะไคร้ ตอนนี้ห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด
"ตอนนี้ขอให้นักท่องเที่ยวที่ยังติดอยู่ภายในให้แจ้งความประสงค์มาทาง อบต. จากนั้นทาง อบต.ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของอบต.และกู้ภัยร่วมกตัญญูจะคอยดูแล ส่วนชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมขังอยากให้ตัดไฟในบ้านเรือนก่อน รอให้ระดับน้ำลดก่อน ขณะที่ตอนนี้ตนและเจ้าหน้าที่ได้อยู่คอยเฝ้าระวังตลอด"
สถานการณ์น้ำล่าสุดพบว่าระดับความสูงของน้ำเริ่มลดระดับลงต่อเนื่องอย่างช้า ๆ ด้านการพยากรณ์อากาศในภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทรบุรี และตราด พบว่าวันที่ 25 - 28 สิงหาคม 2565 นี้ จะเกิดฝนตกหนักร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และวันที่ 29 - 30 สิงหาคม 2565 จะมีฝนตกประมาณ 40% ซึ่งเป็นปริมาณฝนที่ตกปานกลางถึงหนัก
ภาพ/ข่าวโดย สมบัติ เนินใหม่, บุญรวม, ธนชัย, กิจติภัฐร์ สง่ารัตนพิมาน จ.นครนายก