"ชีวิตที่มีความหมาย" ยิ่งขึ้น | วรากรณ์ สามโกเศศ
หากใช้วลี “ชีวิตที่มีความหมาย” กับคนยุค “ออเจ้า” สมัยสมเด็จพระนารายณ์ 350 ปีก่อน และใช้กับคนยุค “บุพเพสันนิวาส” ในรัชกาลที่ 3 เมื่อ 220 ปีก่อน คงงงเป็นไก่ตาแตกและก็ไม่รู้จักสำนวนเกี่ยวกับไก่นี้เช่นกัน แต่ละยุคสมัยก็มีภาษา ความหมายและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างกัน
“ชีวิตที่มีความหมาย” สื่อถึงการมีชีวิตที่มีความสำคัญของตนเองโดยทำประโยชน์ให้ผู้อื่นอย่างมีคุณค่า ล่าสุด มีงานวิจัยของนักวิชาการที่ยืนยันว่า “ชีวิตที่มีความหมาย” ทำให้เกิดความสุขทางจิตใจ
“ชีวิตที่มีความหมาย” มีกลิ่นอายของนมเนยเพราะมาจากคำว่า meaningful life ซึ่งหมายถึงชีวิตที่ดำเนินไปอย่างมีวัตถุประสงค์ มีความสำคัญต่อตนเองและผู้อื่น ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าบรรลุเป้าหมาย และเกิดความพึงพอใจในชีวิต กล่าวโดยรวมก็คือเป็นชีวิตที่พึงประสงค์
สิ่งที่เจ้าของให้ความสำคัญก็คือสิ่งที่มีความหมาย สมมติว่ามีสายสร้อยทองคำแท้และเก๊หนักหนึ่งบาทอย่างละเส้น เจ้าของย่อมดูแลทะนุถนอมเส้นแท้เป็นอย่างดีเพราะมีความสำคัญ
เนื่องจากสามารถเอาไปขายเป็นเงินได้ มันจึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย ในทางตรงกันข้ามเจ้าของไม่สนใจไยดีเส้นเก๊เพราะมันไร้ค่า ไร้ความสำคัญ และไร้ความหมาย เพราะไม่สามารถแปรเป็นเงินได้
ชีวิตที่มีความหมายก็คือ ชีวิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นให้แก่สังคม กล่าวคือ มีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ และสร้างผลกระทบในด้านบวกแก่ผู้อื่นในสังคม ดังนั้น การสร้างความสำคัญกับการมีความหมายจึงเป็นสิ่งคู่กัน
ข้อเขียนของ Mark Travers ใน Psychology Today (31 July 2022 ) “Things You Can Do Today to Add More Meaning Inyo Your Life” ให้ข้อคิดที่มาจากงานวิจัยด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับ “ชีวิตที่มีความหมาย” อย่างน่าสนใจ
ผู้เขียนไม่ขออ้างเจ้าของผลงานเพราะจะทำให้กลายเป็นบทความทางวิชาการ มิใช่ “อาหารสมอง” ที่พยายามปรุงให้อร่อยและย่อยง่าย
การแสวงหาความหมายของชีวิต อาจมิได้เป็นสิ่งที่อยู่ในอันดับต้นๆ ในใจของผู้คนเท่ากับการแสวงหาความสุข การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ความมั่นคงในชีวิต ฯลฯ แต่ก็มิได้หมายความว่ามันไม่สำคัญ
งานวิจัยใหม่ๆ ชี้ให้เห็นว่าชีวิตที่ขาดความหมาย อาจมีผลเสียต่อสุขภาพจิต ในขณะที่ชีวิตซึ่งดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย สร้างความสำคัญและก่อให้เกิดความหมายนั้นมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายและจิตใจ
ผู้ที่ต้องการทำให้ชีวิตมีความหมายยิ่งขึ้นมี 3 หนทางดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับความตาย “มรณานุสติ” ในศาสนาพุทธเตือนใจให้นึกถึงความตายเพื่อไม่ให้ประมาท ให้รีบทำความดี ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะความตายมาเยือนเมื่อใดก็ได้ นักจิตวิทยาพบว่าการคิดถึงความตายในบางแง่มุม มีบทบาทสำคัญในการจูงใจให้มีชีวิตที่มีความหมายยิ่งขึ้น
งานวิจัยพบว่าผู้คนส่วนใหญ่มักมีคำตอบที่โยงใยกับการมีคุณธรรมยามเมื่อถูกถามว่าอยากให้คนอื่นมีความทรงจำเกี่ยวกับตนเองอย่างไรเมื่อจากไปแล้ว ในขณะที่คำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตตนเองตามที่ถูกถามนั้น มีเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมน้อยกว่ามาก
การตอบเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการมีความรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าต้องการให้คนอื่นนึกถึงตนเองในด้านดีๆ ที่เกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวพันกับการมี “ชีวิตที่มีความหมาย”
การได้คิดว่าทุกคนมีชีวิตเดียว มาแล้วก็จากไป และมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่เสมอ การเชื่อมต่อสัมพันธ์ข้ามรุ่นย่อมเกี่ยวพันกับความทรงจำที่มีต่อบุคคลต่างๆ ในรุ่นก่อนหน้าเสมอ และความทรงจำในเรื่องที่เกี่ยวกับการมีคุณธรรมซึ่งเป็นสิ่งไม่ตายเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับทุกคนที่ต้องตาย
การตระหนักคิดยิ่งขึ้นของมนุษย์ในการทิ้งมรดกในลักษณะคุณธรรมดังกล่าวไว้ให้ลูกหลาน ย่อมมีผลต่อการดำเนินชีวิตของตนเองในปัจจุบันอย่างแน่นอน ดังนั้น การคิดถึงความตายในแง่มุมนี้ย่อมช่วยทำให้บุคคลมี “ชีวิตที่มีความหมาย” ยิ่งขึ้น
(2) แปรเปลี่ยนความเกลียดชังให้เกิดประโยชน์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าความเกลียดชังที่บุคคลหนึ่งมีต่อกลุ่มบุคคล ต่อองค์กร ต่อแนวคิด ต่อความเชื่อศรัทธา ฯลฯ เป็นความเกลียดชังชนิดร่วมกันเกลียด ซึ่งต่างจากการเกลียดชังบุคคลที่คิดว่าได้ทำร้ายตนซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ความเกลียดร่วมกันเช่นนี้มักมาจากการเป็นสมาชิกของชุมชนที่ร่วมกันเห็นว่าอีกกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู ซึ่งเป็นเรื่องง่าย
เพราะเมื่อเพื่อน ญาติ และคนในชุมชนอื่นๆ เกลียดชังก็จะกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มเกลียดชังร่วมไปด้วย ถ้าทำให้การเกลียดชังร่วมกันนี้มุ่งไปสู่การเกลียดชังในบางเรื่องที่เลวร้าย เช่น โลกร้อน คอร์รัปชัน การเอาเปรียบเด็กและสตรี การคดโกงความเหลื่อมล้ำ ความหยาบคาย ฯลฯ ก็จะช่วยทำให้มี “ชีวิตที่มีความหมาย” ยิ่งขึ้น
(3) ช่วยคนอื่นเสมอ การช่วยเหลือคนอื่นในลักษณะซึ่งผู้ให้เกิดการสูญเสียจากการเสียสละอย่างแท้จริง เช่น ความเจ็บปวด (เดินทางด้วยความยากลำบากเสี่ยงตายไปมอบของ) มีเงินน้อยแต่ต้องเจียดช่วยเหลือ เสียสละเวลาที่มีจำกัดมาก ฯลฯ
และผู้ให้รู้สึกว่าได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านบวกแก่ชีวิตของคนอื่นอย่างสำคัญนั้น งานวิจัยพบว่าความรู้สึกเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้กับสิ่งที่ให้จะแรงเป็นพิเศษและผลักดันให้ผู้ให้อยากมี “ชีวิตที่มีความหมาย” ยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป “ชีวิตที่มีความหมาย” เป็นชีวิตที่มีหางเสือ ดำเนินไปอย่างมีผลกระทบในด้านบวกต่อชีวิตของผู้อื่น เป็นชีวิตที่สร้างความสำคัญให้แก่คนอื่น และสร้างความสุขใจให้แก่ตนเอง
สามหนทางที่ช่วยให้มี “ชีวิตที่มีความหมาย” ยิ่งขึ้นก็คือการตระหนักถึงมรดกที่จะทิ้งไว้ให้แก่สังคม ความเกลียดชังสิ่งชั่วร้ายร่วมกัน และการช่วยเหลือคนอื่นเสมอโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน
ผู้เขียนเคยพูดไว้นานมาแล้วว่า “การศรัทธาในความดี ความงามและความจริง คือหัวใจของการมีชีวิตที่มีความหมาย” ลองคิดดูว่าถ้าคนไม่ศรัทธาในสามสิ่งนี้แล้ว “ชีวิตที่มีความหมาย” ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จะเกิดขึ้นได้อย่างไร