"อ.เสรี" ยันน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54 เกิดจากฝนตกไม่ใช่น้ำหลาก
"อ.เสรี" ยันน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54 อาจไม่ท่วมยาวนาน เกิดจากฝนตกในพื้นที่ไม่ใช่น้ำหลาก แนะเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ไม่ได้ให้ตระหนกแต่ให้ตระหนัก
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่าอาจจะซ้ำรอยปี 2554 ว่า มีโอกาสเกิดขึ้นสูง โดยให้เฝ้าระวังในเดือนก.ย.-พ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่แล้ว และในภาคกลางปริมาณฝนเทียบเคียงปี 2554 ส่วนภาคเหนือน้อยกว่าปี 2554 นั่นแปลว่า ปริมาณน้ำเหนือที่จะหลากลงมามีน้อย แต่จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ หากมีระบบบริหารจัดการไม่ดีจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 อย่างแน่นอน อาจท่วม 50 ซม.-1 เมตร แล้วแต่ปริมาณน้ำฝน แต่อาจไม่ท่วมยาวนานเหมือนปี 2554 พร้อมยืนยันว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ต้องการให้คนตระหนก แต่ให้ตระหนักเตรียมป้องกันรับมือ
รศ.ดร.เสรี เปิดเผยว่า วันนี้ตนลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านค่อนข้างวิตกกังวลมาก เพราะน้ำมาเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน ถึงแม้ว่าขณะนี้รอบเกาะเมืองระดับน้ำยังต่ำกว่าปี 2554 อยู่ประมาณ 1 เมตรก็ตาม แต่คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนก.ย.-พ.ย.นี้ ฝนจะมาหนักแน่นอน พร้อมแนะนำให้ทุกคนเตรียมความพร้อม
ทั้งนี้ ตนแนะนำ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. เตรียมการรับมือด้วยการหาทางให้น้ำอยู่ เช่น พร่องน้ำในคลอง รวมถึงหารือประเมินสถานการณ์กับกรมชลประทาน เพื่อระบายน้ำในคลอง โดยเฉพาะคลองรังสิตก่อนที่น้ำจะเข้ากรุงเทพฯ รวมถึงทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชน พร้อมแนะนำให้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเคยถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เตรียมตัว เช่น ย้ายรถในที่ปลอดภัย ยกของขึ้นที่สูง เตรียมกระสอบทราย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ตนได้เตรียมตัวแล้วเช่นกัน
ส่วนกรณีที่องค์กรนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ได้ทำแผนที่พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลพบว่าจะจมหายไปจากแผนที่โลกในปี ค.ศ.2100 แบบ 100% เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นรหัสโค้ชเรด เตือนประเทศไทยนั้น “รศ.ดร.เสรี “ ยืนยันว่า ตนไม่ได้เพี้ยน เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยใช้ข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์ตามรายงานระดับโลก ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจทำอะไร ต้องเตรียมย้ายเมืองหลวง เพราะหากตัดสินใจวันนี้จะใช้เวลาอีก 30 ปี กว่าจะแก้ไขได้ เหมือนประเทศสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ป้องกันเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ตนมองว่าเรื่องภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่มาก ส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มคืบคลานเข้ามา และเริ่มรุนแรงมากขึ้น จะเห็นได้จากขณะนี้เริ่มน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่