รีไฟแนนซ์บ้าน เคล็ด(ไม่)ลับ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ถูกลง
"รีไฟแนนซ์บ้าน" แท้จริงแล้วคืออะไร มีประโยชน์ต่อเรามากแค่ไหน แล้วจะเลือกธนาคารไหนดี มีขั้นตอน เอกสาร และค่าใช้จ่ายเท่าไร ไปหาคำตอบพร้อมกันได้จากบทความนี้
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่อยู่ในวงการผ่อนชำระหนี้น่าจะเคยได้ยินคำว่า รีไฟแนนซ์บ้าน กันมาบ้างว่าจะช่วยให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้น แต่อาจไม่ได้เข้าใจว่ารีไฟแนนซ์บ้านคืออะไรอย่างแท้จริง การรีไฟแนนซ์บ้านทำไมถึงช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้บ้านหมดภาระหนี้เร็วขึ้น ในบทความนี้เราจะมาอธิบายทุกอย่างเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์บ้านกัน ไปดูกันเลย
- ทำความรู้จัก "รีไฟแนนซ์บ้าน"
รีไฟแนนซ์บ้าน หรือ Refinance พูดให้เข้าใจแบบสั้นๆ คือการกู้เงินจากสถาบันการเงินใหม่ไปชำระหนี้สถาบันการเงินเดิม หรือการเปลี่ยนเจ้าหนี้คนเก่าไปเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเดิมนั่นเอง
หากอธิบายการรีไฟแนนซ์บ้านอย่างละเอียดคือ การยื่นกู้เงินจากธนาคารใหม่ และนำเงินกู้ที่ได้นั้นไปปลดภาระหนี้กับธนาคารเก่า โดยมีบ้านที่อยู่อาศัยที่เคยติดหนี้กับธนาคารเก่าเป็นหลักประกัน โดยจุดประสงค์ของการรีไฟแนนซ์คือ การลดดอกเบี้ยชำระหนี้ลง เพราะปกติแล้วเมื่อผ่อนไปประมาณ 3 ปีจะเริ่มเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้เราต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก
นอกจากนั้น การรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อแก้ปัญหาดอกเบี้ยลอยตัวสูงจนรับภาระหนี้ไม่ไหว โดยกูรูด้านการเงิน มีทางออกให้กับผู้กู้ที่เจอภาวะดอกเบี้ยลอยตัวสูงนี้ด้วยการรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อย้ายไปธนาคารใหม่ที่เขาอยากได้เราไปเป็นลูกค้า โดยมีข้อเสนอเป็นอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ถูกลง ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยบ้านถูกลง ก็ส่งผลให้เงินต้นหมดเร็วขึ้น มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น
- ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน
ลดดอกเบี้ยบ้าน
เพื่อดึงดูดผู้กู้ให้เลือกใช้บริการกับธนาคารของตน จึงได้มีโปรโมชันใน การรีไฟแนนซ์ ด้วยข้อเสนอต่างๆ ที่ดีกว่าเดิม จุดสำคัญในการรีไฟแนนซ์คือ ธนาคารใหม่จะเสนออัตราการผ่อนชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการผ่อนชำระหนี้ที่เดิม ทำให้ผู้กู้มีภาระชำระดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงนั่นเอง
ลดระยะเวลาในการผ่อนบ้าน
เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระลดลง ทำให้เงินที่ผ่อนไปเท่าเดิม เป็นเงินต้นมากขึ้น ผู้กู้จึงสามารถผ่อนชำระหนี้ได้เร็วขึ้น ระยะเวลาการชำระหนี้จึงสั้นลงกว่าเดิม
ขอวงเงินกู้เพิ่มได้
เพราะเมื่อเราผ่อนบ้านไปสักระยะนึง ยอดหนี้เงินต้นของเราจะลดลง เมื่อเรายื่นขอรีไฟแนนซ์โดยใช้บ้านนั้นเป็นหลักประกัน จะทำให้มีส่วนต่าง เราสามารถยื่นขอเงินกู้แค่เท่ายอดหนี้คงเหลือได้ หรือจะยื่นขอวงเงินกู้เพิ่มให้เท่ากับวงเงินสูงสุดที่สามารถกู้ได้เช่นกัน และเงินที่กู้เพิ่มนั้นสามารถนำมาทำประโยชน์อื่นๆ เช่น ต่อเติมบ้าน ปิดหนี้บัตรเครดิต แล้วผ่อนจ่ายกับสินเชื่อบ้านแทนในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า
- สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนรีไฟแนนซ์บ้าน
เมื่อรู้จักกับการรีไฟแนนซ์บ้านกันไปแล้ว เรามาดูสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนจะยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์บ้านกันก่อน เพื่อให้สามารถดำเนินการรีไฟแนนซ์บ้านได้อย่างราบรื่น
คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน
เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้กู้จะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญา ผู้กู้จึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- พนักงานบริษัท/ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
- สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปี
- รายได้รวมตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ขึ้นไป
- อายุงานในบริษัทปัจจุบันต้องไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องผ่านช่วงทดลองงานแล้ว
- เจ้าของกิจการ/ธุรกิจส่วนตัว
- สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปี
- รายได้รวมตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือน ขึ้นไป
- มีการจดทะเบียนบริษัท และประกอบธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์)
- สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปี
- รายได้รวมตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือน ขึ้นไป
- มีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของรายได้
- ประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน
1. เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล
ผู้กู้จะต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลของผู้กู้ เพื่อใช้ยืนยันตน เช่น
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนสมรส/หย่า/ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณะบัตร และทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
2. เอกสารแสดงรายได้
เอกสารแสดงรายได้มีไว้เพื่อที่ธนาคารจะต้องนำข้อมูลนี้มาพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของผู้กู้ สภาพคล่องทางการเงิน ประวัติการชำระเงินที่ผ่านมา ข้อมูลตรงนี้สำคัญอย่างมากในการอนุมัติวงเงินกู้ การรีไฟแนนซ์ของผู้กู้ โดยเอกสารแสดงรายได้ที่ผู้กู้ต้องนำมายื่นกับธนาคารมีดังนี้
- หากเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำ
- สลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองการทำงาน(ตัวจริง)
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- หากทำธุรกิจส่วนตัว
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้/ผู้กู้ร่วม
- สำเนารายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน (ทั้งในนามบุคคลและกิจการ)
- สำเนา ภ.พ. 30 (ถ้ามี)
3. เอกสารแสดงหลักประกัน
เอกสารแสดงหลักประกันใช้เพื่อยืนยันว่า อสังหาริมทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันเป็นของผู้กู้จริง เช่น
- สำเนาแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน
- สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน
- สำเนาสัญญากู้เงินธนาคารเดิม
- สำเนาใบเสร็จเงินกู้เดือนล่าสุด
- แผนที่ตั้งของหลักประกัน
หากมีผู้กู้ร่วมจะต้องเตรียมเอกสารของผู้กู้ร่วมเช่นเดียวกับผู้กู้หลักพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้องในทุกๆ เอกสาร
- ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้าน
การรีไฟแนนซ์บ้าน ครั้งหนึ่งจะมีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมดำเนินการต่าง ๆ โดยค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้านส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของวงเงินกู้ทั้งหมด สามารถแบ่งรายละเอียดได้ดังนี้
- ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน : โดยส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 พัน ขึ้นกับสถานที่ตั้งของหลักประกัน หรือไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ขึ้นกับโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร
- ค่าจดจำนอง : ชำระ 1% ของวงเงินกู้ให้กับกรมที่ดิน
- ค่าอากรแสตมป์ : ชำระ 0.05% ของวงเงินกู้ (ไม่เกิน 10,000 บาท)
- ค่าประกันอัคคีภัย : ขึ้นอยู่กับมูลค่าหลักประกัน โดยส่วนมากอยู่ที่ประมาณ 1-3 พันหรือมากกว่านั้น
- ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ของธนาคาร
*ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโปรโมชันของธนาคาร โดยบางธนาคารก็มีโปรโมชันฟรีค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวไป หรืออาจฟรีเฉพาะบางรายการ ขึ้นกับเงื่อนไขที่ธนาคารนั้นๆ กำหนด
- ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านที่ควรรู้
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบสัญญากู้บ้านฉบับเดิม
ขั้นแรกของการยื่นขอรีไฟแนนซ์เลยคือจะต้องตรวจสอบสัญญากู้บ้านฉบับเดิมซะก่อนว่าผ่านการผ่อนไประยะเวลาใดแล้ว ซึ่งปกติแล้วมักจะเริ่มรีไฟแนนซ์ได้ในช่วงผ่อนไปแล้ว 3 ปีขึ้นไป ถ้ารีไฟแนนซ์บ้านก่อน 3 ปีจะมีค่าปรับจากธนาคารตามที่ระบุในสัญญานั้นๆ
ขั้นตอนที่ 2 เลือกธนาคารที่ใช่ โปรโมชั่นที่ชอบ
เพราะการแข่งขันในวงการนี้ค่อนข้างสูง จึงทำให้ธนาคารต่างๆ ออกโปรโมชันที่มีเงื่อนไขดีๆ มากมาย ซึ่งเราควรรวบรวมโปรโมชันจากธนาคารต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน และหาธนาคารที่มีเงื่อนไขดีที่สุด ดอกเบี้ยต่ำที่สุด
ขั้นตอนที่ 3 เตรียมความพร้อมในเรื่องเอกสาร
เมื่อเลือกธนาคารที่ใช่ โปรโมชันที่สนใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะต้องเตรียมเอกสารในการยื่นขอกู้ รีไฟแนนซ์ กับธนาคารใหม่ โดยเอกสารที่เตรียมมักจะมีความคล้ายๆ กันในทุกธนาคาร เช่น เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล เอกสารแสดงรายได้ เอกสารแสดงหลักประกัน เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 ทำเรื่องยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์
เมื่อเตรียมเอกสารทุกอย่างพร้อมแล้ว นำเอกสารไปยื่นที่ธนาคารที่ต้องการขอรีไฟแนนซ์บ้าน จากนั้นทางธนาคารจะตรวจสอบทั้งข้อมูลในเอกสาร รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินหลักประกัน และนำมาประกอบผลอนุมัติวงเงินกู้ หากไม่มีความผิดพลาดใดๆ ธนาคารจะแจ้งผลอนุมัติกับเรา เพื่อให้เราไปติดต่อธนาคารเดิมสำหรับการสอบถามหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอน
ขั้นตอนที่ 5 ทำสัญญาสินเชื่อใหม่และจดจำนอง
เมื่อปลดหนี้จากธนาคารเดิมเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะนัดไปทำสัญญาสินเชื่อใหม่ และโอนกรรมสิทธิ์กับธนาคารใหม่ โดยจะต้องนัดเจ้าหน้าที่จากทั้งสองธนาคารไปด้วยที่กรมที่ดิน
- รีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิมได้หรือไม่
คำถามยอดฮิตของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ การรีไฟแนนซ์บ้าน ถ้าการรีไฟแนนซ์บ้านจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เราสามารถรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิมได้ไหม?
คำตอบคือ ได้ แต่จะมีคำเรียกเฉพาะอีกคำ คือการรีเทนชัน (Retention) ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยลดภาระหนี้ได้เช่นเดียวกับการรีไฟแนนซ์ แต่จะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของอัตราดอกเบี้ย เจ้าหนี้ และความยากง่ายในการยื่นขอรีเทนชั่น
- การรีเทนชัน (Retention) คืออะไร
รีเทนชัน (Retention) เป็นการขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเดิมที่มีภาระหนี้อยู่ ซึ่งจุดแรกของความแตกต่างระหว่างรีไฟแนนซ์บ้านกับรีเทนชันบ้านคือเจ้าหนี้ของเรา โดยที่การทำรีไฟแนนซ์จะเป็นการเปลี่ยนเจ้าหนี้ที่ใหม่ แต่การรีเทนชั่นจะเป็นเจ้าหนี้ที่เดิมนั่นเอง
โดยการทำรีเทนชันมีจุดเด่นคือมีการทำธุรกรรมทุกอย่างอยู่กับธนาคารเดิม ทำให้มีขั้นตอนในการเตรียมเอกสาร ระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติรีเทนชั่นน้อยกว่าการยื่นรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ เนื่องจากมีประวัติเก่ากับธนาคารเดิมอยู่แล้ว แถมเพราะทุกอย่างทำอยู่ที่ธนาคารเดิมจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมมากเท่ากับการรีไฟแนนซ์
อย่างไรก็ตาม การยื่นขอรีเทนชั่นก็อาจไม่ได้อนุมัติง่ายกว่าการรีไฟแนนซ์หากมีประวัติการผ่อนชำระไม่ดี อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยการทำรีเทนชั่นอาจลดลงได้ไม่เท่ากับการรีไฟแนนซ์ก็ได้
ดังนั้น ผู้ที่สนใจอยากลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้บ้านปลอดหนี้เร็วขึ้นควรจะต้องพิจารณาและคำนวณค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยเงินกู้ให้ดีว่าแบบไหนจะลดดอกเบี้ยได้มากที่สุด เพราะในบางครั้งการเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการกู้ใหม่อาจมากกว่าการขอลดดอกเบี้ยจากที่เดิม หรือในบางครั้งการเสียค่าธรรมเนียมมากแต่ก็คุ้มกว่าการผ่อนจ่ายที่เดิมก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
- รีไฟแนนซ์บ้านธนาคารไหนดี
1. รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส)
รีไฟแนนซ์บ้าน ธอส. มีโครงการสินเชื่อบ้านสุขสันต์ ผ่อนหนักให้เป็นเบา เพิ่มความสุขสันต์ให้ชีวิต ด้วยการยืดระยะเวลาผ่อนได้สูงสุดถึง 40 ปี และยังมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเดิม
สำหรับลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยปีแรกเพียง 1.99% ต่อปี ปีที่ 2 MRR -3.16% ปีที่ 3 MRR -2.65 และปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -1.00% ต่อปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (EIR) เพียง 4.38%
สำหรับลูกค้ารายย่อย ดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.09% ต่อปี ปีที่ 2 MRR -3.06% ปีที่ 3 MRR -2.55 และปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -0.50% ต่อปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (EIR) เพียง 4.73%
2. รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารออมสิน
รีไฟแนนซ์บ้าน ออมสิน สินเชื่อเคหะมาพร้อมกับโปรโมชันดีๆ มากมายไม่ว่าจะปลอดชำระเงินงวด 6 แรก และเมื่อพ้นระยะปลอดชำระหนี้ สามารถเลือกผ่อนต่ำ ล้านละ 3,500 บาทเท่านั้นเป็นเวลาอีก 6 เดือน
โดยอัตราดอกเบี้ยขึ้นกับการทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ ในกรณีที่ผู้กู้ประสงค์ทำประกันก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โดยในปีแรก MRR -4.255% ปีที่ 2-3 MRR -2.8% รวมดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 2.65% และปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -1.25% มีค่า EIR เพียง 4.256%
ความพิเศษยังไม่หมดเพียงเท่านั้น รีไฟแนนซ์บ้าน ออมสินยังสามารถยืดระยะเวลาผ่อนได้สูงสุด 40 ปี และยังฟรีค่าจดจำนอง ค่าจัดทำนิติกรรมสัญญา และค่าอากรแสตมป์อีกด้วย
3. รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารกรุงไทย
สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ กรุงไทยมาพร้อมกับดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น 0.75% ต่อปี (สำหรับลูกค้าทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเริ่มต้น 2.7% ต่อปีและมี EIR 4.01% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับเงื่อนไขพิเศษอย่าง ฟรีค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ 1% ของวงเงินกู้ และยังสามารถผ่อนได้ยาวถึง 40 ปี
4. รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารไทยพาณิชย์
สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน SCB ช่วยให้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง และเป็นเจ้าของบ้านแบบปลอดหนี้ได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังยื่นกู้เงินเพิ่มเพื่อนำเงินก้อนมาใช้ได้อีกด้วย โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมินหลักประกัน (เงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนด) ผ่อนได้สูงสุด 30 ปี มีทางเลือกการชำระเงินตามความต้องการไม่ว่าจะกู้เพิ่มแล้วผ่อนเท่าเดิม หรือกู้เท่าเดิมแล้วผ่อนน้อยลงก็ได้ทั้งนั้น
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านสำหรับลูกค้าทั่วไป ลูกค้าโครงการก็จะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษขึ้นกับประเภทของโครงการ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารกำหนด
5. รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารกรุงศรี
รีไฟแนนซ์บ้าน กรุงศรีให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 95% ของราคาประเมิน และยังมีทางเลือกในการยื่นขอรีไฟแนนซ์ที่หลากหลายมาก
สำหรับวงเงินกู้อนุมัติ 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1.5 ล้านบาท มี 3 ตัวเลือกให้ผู้กู้ ดังนี้
ทางเลือก 1 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.33% และ EIR = 3.95%
ทางเลือก 2 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.6% และ EIR = 4.1%
ทางเลือก 3* อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.58% และ EIR = 4.09%
สำหรับวงเงินกู้อนุมัติ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป มี 5 ตัวเลือกให้ผู้กู้ ดังนี้
ทางเลือก 1 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 2.88% และ EIR = 3.6%
ทางเลือก 2 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.15% และ EIR = 3.71%
ทางเลือก 3 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.42% และ EIR = 3.87%
ทางเลือก 4 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.35% และ EIR = 3.35%
ทางเลือก 5* อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.12% และ EIR = 3.74%
*เฉพาะลูกค้าที่ซื้อ MRTA/MLTA ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น โดยเลือกรับดอกเบี้ยทางเลือกฟรีค่าจดจำนองได้
นอกจากนี้ ยังสามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุด 30 ปี และฟรีค่าประเมินหลักประกันอีกด้วย
- รีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงิน ทำได้ไหม
ข้อดีอีกอย่างของ การรีไฟแนนซ์ นอกจากจะลดอัตราดอกเบี้ยที่ลอยตัวจากธนาคารเดิมมาจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ากับธนาคารใหม่แล้ว ยังสามารถยื่นขอกู้วงเงินเพิ่มรับเงินเป็นเงินก้อนแล้วผ่อนจ่ายในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยส่วนบุคคลอีกด้วย
การรีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงินนั้นจะคำนวณจากส่วนต่างของวงเงินกู้ที่เหลืออยู่กับมูลค่าของหลักประกัน ซึ่งปกติแล้วเวลาเราผ่อนบ้านไประยะหนึ่งแล้วเงินที่ผ่อนนั้นก็จะไปหักเงินต้น ทำให้หนี้ที่มีอยู่ลดลง และเมื่อเรารีไฟแนนซ์กันธนาคารใหม่จึงมีส่วนต่างจากเงินต้นที่ถูกหักไปแล้วนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น เงินกู้ซื้อบ้านราคา 3.5 ล้านบาท ผ่อนชำระมาแล้ว 6 ปีเหลือยอดชำระค้างประมาณ 2.8 ล้าน เมื่อรีไฟแนนซ์มาธนาคารใหม่ ก็จะปิดนี้ 2.8 ล้านกับธนาคารเก่าโดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน ทีนี้ราคาบ้านที่เป็นหลักประกันมีมูลค่ามากกว่า 2.8 ล้าน ทำให้เงินที่เกินส่วนนี้สามารถมากู้เพิ่มเพื่อนำเงินก้อนไปใช้ได้
- เปลี่ยนเรื่องบ้านเป็นเรื่องง่าย รีไฟแนนซ์บ้านผ่าน Refinn
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นเจ้าของบ้านได้เร็วขึ้น แต่พออ่านรายละเอียดเบื้องต้นไปอาจรู้สึกว่าการรีไฟแนนซ์เป็นเรื่องยุ่งยาก เราขอแนะนำบริการทำรีไฟแนนซ์บ้านและคอนโดผ่าน Refinn ที่สามารถช่วยให้การรีไฟแนนซ์บ้านเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม
- ทำไมต้องรีไฟแนนซ์บ้านกับ Refinn?
Refinn ช่วยเปรียบเทียบโปรโมชันรีไฟแนนซ์บ้านด้วยรูปแบบที่อ่านง่าย ทำให้เราสามารถพิจารณาเลือกโปรโมชันสินเชื่อที่เหมาะกับเราที่สุดได้ง่ายกว่า
Refinn ช่วยให้การสมัครรีไฟแนนซ์บ้านง่ายขึ้น เพียงกรอกข้อมูลกับเราเพียงครั้งเดียวแล้วยื่นสมัครได้ทุกธนาคารพันธมิตรของเรา
Refinn เรามีทีมงานมากประสบการณ์ให้คำแนะนำและติดตามงานจนดำเนินงานเสร็จสิ้น
Refinn ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงและข้อผูกมัดใดๆ
- คำถามที่พบบ่อยเมื่อต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน
รีไฟแนนซ์บ้านต้องกี่ปี
ปกติแล้วสัญญาสินเชื่อบ้านมักจะมีอายุ 3-5 ปี ขึ้นกับเงื่อนไขที่แต่ละธนาคารกำหนด ซึ่งจะมีระบุอยู่ในสัญญาที่ทำไว้
ผ่อนบ้าน 1-2 ปี รีไฟแนนซ์ได้ไหม
เพราะเงื่อนไขตามสัญญาของสินเชื่อบ้านมักจะกำหนดระยะเวลาไว้ประมาณ 3-5 ปี หากรีไฟแนนซ์ก่อนครบกำหนดสัญญาหรือรีไฟแนนซ์บ้านก่อน 3 ปีก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะต้องเสียค่าปรับตามที่ระบุในสัญญา ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของยอดหนี้ที่เหลือหรือตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ดังนั้นผู้กู้ที่สนใจจะรีไฟแนนซ์ควรอ่านรายละเอียดก่อนจะยื่นรีไฟแนนซ์ทุกครั้ง ซึ่งกรณีรีไฟแนนซ์บ้านก่อน 3 ปีมักจะทำก็ต่อเมื่อคำนวณค่าปรับแล้วก็ยังประหยัดกว่าการผ่อนชำระที่เดิม
รีไฟแนนซ์บ้านได้กี่ครั้ง
เราสามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ทุกๆ 3 ปี หรือตามเงื่อนไขระยะเวลาของสัญญา ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้านทุกๆ 3 ปีจะช่วยให้เราจ่ายดอกเบี้ยในราคาโปรโมชัน ซึ่งถูกกว่าการผ่อนจ่ายดอกเบี้ยที่เดิมเป็นเวลานานๆ จนเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยลอยตัวราคาแพงจนบางครั้งอาจกลายเป็นผ่อนจ่ายดอกเบี้ย ไม่ได้หักเงินต้นเลย