ร่อนสารถึงรัฐบาลนอร์เวย์ กดดันเทเลนอร์ ให้ยุติดีลควบรวมทรูดีแทค

ร่อนสารถึงรัฐบาลนอร์เวย์ กดดันเทเลนอร์ ให้ยุติดีลควบรวมทรูดีแทค

ร่อนสารถึงรัฐบาลนอร์เวย์ กดดันเทเลนอร์ บริษัทแม่ดีแทค ให้ยุติดีลควบรวมทรูดีแทค เหตุละเมิดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญไทย เพื่อยืนหยัดศักดิ์ศรีของประเทศนอร์เวย์ที่ติดอันดับธรรมาภิบาลที่ดีของโลก 

6 ตุลาคม 2565 เมื่อเวลา 10.30 น. นายสมบูรณ์ บุญญาภิรมณ์ ทนายความ ได้เข้ายื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ต่อสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เพื่อส่งต่อข้อเรียกร้องผ่านไปถึง บริษัท เทเลนอร์ ให้ยุติข้อเสนอการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูดีแทค ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องถึงรัฐบาลนอร์เวย์ให้พิจารณาว่า ข้อเสนอควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทนั้น เป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่ 

 

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น ขัดต่อกฎหมาย มีทั้งการปฏิบัติข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด การบิดเบือนเอกสารที่เป็นสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณา การก้าวก่ายและแทรกแซงการพิจารณาตัดสินใจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (กสทช.) และการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาทิ 

1. ข้อเสนอในการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทฯ ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกําหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทําการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้ 

  1. การอุดหนุนการบริการ 
  2. การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน 
  3. การใช้อํานาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม
  4. พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน
  5. การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

2. การควบรวมกิจการของ ทรูและดีแทค จะทำให้เหลือผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลง และจะทำให้เหลือผู้ให้บริการฯ หลักเพียงสองรายเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการ การกำหนดราคาและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและแข่งขันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยและนานาประเทศ ให้ความสำคัญในโลกยุคใหม่ โดยปัจจุบัน ดีแทค มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย (20%) ทรู อยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย (34%) และเอไอเอส 44.1 ล้านเลขหมาย (46%) จะเห็นได้ว่าหากการควบรวมเกิดขึ้นจะทำให้มีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียงสองราย เพราะการควบรวมกิจการครั้งนี้ จะทำให้ทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่ง และสามารถชี้นำตลาดได้ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพของการให้บริการ การที่ กสทช. ด่วนสรุปมาตรการเฉพาะหลังการควบรวม เพื่อควบคุมผู้ขอควบรวมอย่างหย่อนยาน หละหลวมทั้งๆ ที่ตามรายงานของอนุกรรมการชุดต่างๆ เห็นว่าไม่ควรจะอนุมัติให้ควบรวม 

3. ตนมีความกังวลเพิ่มเติมในเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทเอกชนหรือรัฐ หากผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมมีจำนวนน้อยลง ก็จะทำให้การแทรกแซง คุกคาม จำกัด และปิดกั้นการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสาร เกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ ในการเข้าถึงข้อมูล ในการสื่อสาร ของนักกิจกรรมและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต ในส่วนของบริษัทเอกชนเองก็มีความรับผิดชอบในการปกป้อง สิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งในเสาหลักที่สองได้เน้นย้ำว่า บุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect)

นายสมบูรณ์ ย้ำว่า ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อเรียกร้องนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากจะมีการลงมติชี้ขาดในที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้ จึงอยากให้สถานทูตนอร์เวย์สื่อสารไปยัง บริษัท เทเลนอร์ ให้มีคำสั่งหรือตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทลูกในประเทศไทย ไม่ให้ละเมิดต่อกฎหมาย จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ความโปร่งใส และการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ