‘ศิริราช’ ขยับสู่ Smart Hospital ยกระดับการรักษาและบริการ
‘ศิริราช’ ขยับสู่ Smart Hospital ยกระดับการรักษาและบริการ ภายหลังจาก ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามารับไม้ต่อจากศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ก็มีความตั้งใจที่จะสานต่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภายหลังจาก ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามารับไม้ต่อจากศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ก็มีความตั้งใจที่จะสานต่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พัฒนาสู่สถาบันการแพทย์ที่สร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมาศิริราชได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการแพทย์ที่มีความโดดเด่น หรือAcademic Hub และภารกิจที่สำคัญคือการนำพาโรงพยาบาลศิริราชไปสู่การเป็นต้นแบบของ "Smart Hospital"
คณบดีฯ ชู ‘Smart Digital Hub’ ผลักดัน “คนศิริราช” ให้สมาร์ท
ภายหลังจาก ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามารับไม้ต่อจากศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ก็มีความตั้งใจที่จะสานต่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พัฒนาสู่สถาบันการแพทย์ที่สร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมาศิริราชได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการแพทย์ที่มีความโดดเด่น หรือAcademic Hub และภารกิจที่สำคัญคือการนำพาโรงพยาบาลศิริราชไปสู่การเป็นต้นแบบของ "Smart Hospital"
คณบดีฯ ชู ‘Smart Digital Hub’ ผลักดัน “คนศิริราช” ให้สมาร์ท
“ศิริราชปูพื้นฐานและพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ เริ่มจากแอปพลิเคชัน Siriraj Connect แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ สามารถแจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้า ลงทะเบียนเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ แจ้งเตือนคิวตรวจแบบเรียลไทม์ เช็คคิวเจาะเลือดและรับยา และชำระเงินได้จากแอปพลิเคชันเดียว รวมถึงการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine) กับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาที่โรงพยาบาลด้วย จากนั้นจึงร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมารับบริการ”
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเป็น Smart Hospital นอกจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งสำคัญคือบุคลากรต้องมีความเข้าใจในนวัตกรรม มีทักษะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งศิริราชมีความพร้อมทั้งระบบการศึกษา อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยจัดพื้นที่ที่เรียกว่า “Smart Digital Hub” ให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รวมถึงบุคลการของศิริราช ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรม
“Siriraj Smart Hospital ในระยะแรกเรามีต้นแบบประมาณ 9 เรื่องพื้นฐาน และกำลังจะขยับไปในระยะที่ 2 เรามี Siriraj Data Plus เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบโรงพยาบาลทั้งหมด สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบกับความสามารถของ AI เข้ามาดีไซน์จุดที่ต้องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรบุคคล การเงิน การคลัง พัสดุทรัพย์สินโรงพยาบาล เป็นการบริหารจัดการที่นำข้อมูลดิบมาจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ลดขั้นตอน เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ ซึ่งผมเชื่อมั่นจะเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ในอนาคต”
ศ.นพ.อภิชาติ ทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ผมอยากทำคือการเสริมศักยภาพ สร้างนวัตกรรมในการดูแลรักษาพยาบาล และสมานความเป็นต้นแบบในระดับนานาชาติเพื่อให้คนไทยของเรามีความสุขและให้ชาวศิริราชทุกคนมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่เช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำให้ได้ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า”
หัวใจของโรงพยาบาลอัจฉริยะ ต้องให้ “คนไข้เป็นศูนย์กลาง”
ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “ในฐานะโรงเรียนแพทย์เก่าแก่ ศิริราชมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ด้วยสรรพกำลังที่มีความพร้อม เราจะเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบในรูปแบบการรักษาพยาบาล โดยใช้คำว่า Smart เป็นหลักคิด โจทย์ของศิริราชคือ ความแออัด การเข้าไม่ถึงบริการ ตั้งต้นจากข้อมูลของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศิริราช เฉลี่ยปีละ 3 ล้านครั้ง และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ปีละ 1% เนื่องจากโรงพยาบาลมีความแออัด โดยพบว่าผู้ป่วยหนึ่งรายจะมารับบริการที่ศิริราชเฉลี่ยคนละ 5 ครั้งต่อปี ขณะที่บางรายมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เป็นความไม่สมดุลของการรับบริการและการให้บริการ
“ จึงเป็นที่มาของการทำโครงการ Smart Hospital โดยนำเทคโนโลยีมาออกแบบระบบการให้บริการเพื่อลดปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา แก้ปัญหาโดยใช้คนไข้เป็นศูนย์กลาง ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม ในสถานที่เหมาะสม ในราคาที่คุ้มค่าเหมาะสม และทำให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด
ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำ Smart Hospital อย่างแรกต้องทำให้เกิดการเข้าถึงที่ดีขึ้น (Smart Access) ในที่นี้หมายถึงเข้าถึงเมื่อจำเป็นต้องเข้าถึงได้ สองระบบการรับบริการที่ราบรื่น ไม่ต้องรอ หรือรอคอยน้อยที่สุด (Smart Operation) สามข้อมูลต้องทั่วถึงทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ (Smart Information) ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการรักษาพยาบาลหรือข้อมูลเรื่องของโรคต่างๆ เรื่องถัดมาคือคนของศิริราชก็ต้องสมาร์ท (Smart People) บุคลากรในศิริริราชต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือเป็นและต่อยอดข้อมูลได้
“เราคลี่กระบวนการของคนไข้ ตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล ระหว่างมารับบริการ และหลังรับการรักษา เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับเพื่อลดขั้นตอน ลดเวลา ลดข้อผิดพลาด และให้การรักษาที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้เกิดสมดุลระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ รวมทั้งสามารถติดตามอาการของคนไข้ได้ต่อเนื่อง เราจึงเข้าโครงการ 5G ของรัฐบาลเพื่อสร้างต้นแบบในการทำ Smart Hospital ให้เป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรจากหลากหลายสาขา ทั้งเทคโนโลยี วิศวกรรม การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ไอที รวมถึงสตาร์ตอัพ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงขยายผลไปสู่พันธมิตรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าว
เผยความสำเร็จโครงการต้นแบบ-บริการเด่นของ ‘Siriraj Smart Hospital’
ด้าน รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร กล่าวว่า โรงพยาบาลอัจฉริยะนั้น หมายถึงการออกแบบการให้บริการด้วยการใช้ Disruptive เทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการ ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงและสร้างประสบการณ์ใหม่ในการมารับบริการ ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มความสะดวกและผลิตภาพในการทำงานของบุคลากรชาวศิริราช เรียกว่าทำน้อยแต่ได้มาก”
สำหรับความคืบหน้าโครงการ “Siriraj Smart Hospital” ใน 9 โครงการย่อย ที่ดำเนินงานไปแล้วเกือบ 100% ในหลายโครงการ อาทิ Smart EMS (Emergency Medicine Service) เปลี่ยนรถพยาบาลธรรมดาให้เป็น Smart Ambulance โดยภายในตัวรถจะมีระบบอัจฉริยะต่างๆ อาทิ ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้แพทย์รักษาได้รวดเร็ว ซึ่งในระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา ให้บริการคนไข้ไปแล้วกว่า 400 ราย ลดระยะเวลาที่แพทย์รักษาคนไข้จากเดิมเฉลี่ย 40 นาที เหลือเพียง 20 นาที
ต่อมาคือ Smart Emergency Room ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ มีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่คอยช่วย ประเมินสัญญาณชีพคนไข้ที่ผิดปกติ ทำให้พยาบาลจัดลำดับการดูแล ติดตามคิวผู้ป่วย และให้การรักษาอย่างทันท่วงที ที่สำคัญญาติสามารถติดตามการรักษาได้จากที่บ้าน โครงการถัดมาคือระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Pathological diagnosis system) เริ่มต้นในโครงการมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยจะใช้ AI เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการอ่านผลวินิจฉัยการตรวจชิ้นเนื้อเบื้องต้น ทำให้แพทย์สามารถอ่านชิ้นเนื้อได้รวดเร็วแม่นยำ ซึ่งในอนาคตจะสามารถรองรับการอ่านชิ้นเนื้อให้กับโรงพยาบาลที่ห่างไกลและไม่มีพยาธิแพทย์ ช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการชั้นสูงในพื้นที่ห่างไกลได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (5G AI Platform for NCD) ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Healthy Buddy’ ช่วยผู้ป่วยเบาหวานให้บริโภคอาหารได้สัดส่วน บันทึกข้อมูลอาหารและระบุแคลอรี่ด้วยภาพถ่าย มีระบบเตือนให้กินยา บันทึกผลวัดความดันและน้ำตาล เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ศิริราช ยังนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยบริหารจัดการระบบภายในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นระบบขนส่ง ยาและเวชภัณฑ์ด้วยรถไร้คนขับ (Smart Logistic with 5G Self-Driving car) เพื่อเพิ่มผลิตภาพในระบบการขนส่งและลดต้นทุนได้ในระยะยาว รวมทั้ง Smart Inventory Management ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์พยากรณ์ปริมาณการใช้และการจัดการยาและเวชภัณฑ์ในแต่ละสัปดาห์ และสุดท้ายคือ ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Permission based block chain for personal health record) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรักษา นำร่องที่ 3 โรงพยาบาล คือ รพ.ศิริราช, ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และคาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายไปใช้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้