"บีเจซี บิ๊กซี" ปั้นหลักสูตร "BASE" ติดอาวุธเสริมแกร่งผู้ประกอบการค้าปลีกไทย
"บีเจซี บิ๊กซี" ปั้นหลักสูตร "BASE" หรือ BJC Big C Academy of Smart Entrepreneur ติดอาวุธเสริมแกร่งผู้ประกอบการค้าปลีกไทย
"บีเจซี บิ๊กซี" ถือเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจครบวงจร มีกิจการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือผลิตสินค้า จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า มีหน้าร้านเป็นของตัวเองผ่านห้างค้าปลีก "บิ๊กซี" ปัจจุบันอาณาจักรธุรกิจมีมูลค่า "แสนล้านบาท" จากการค้าขายผ่านช่องทางหน้าร้านหรือออฟไลน์ แต่เทคโลโนโลยี โลกดิจิทัล พฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนจน "ดิสรัป" ช่องทางค้าเดิมๆ อีกด้านการแข่งขันค้าปลีกรุนแรงขึ้น มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เข้ามาแบ่งเค้ก ทำให้บริษัทฯ ตระหนักในการเสริมแกร่งธุรกิจ ด้วยการเปิดโปรแกรม "BASE" หรือ BJC Big C Academy of Smart Entrepreneur
ทั้งนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร BASE ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นแม่ทัพใหญ่ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีเจซี บิ๊กซี ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) และกุนซือข้างกาย "อัศวิน-ฐาปนี" มา 14 ปี อย่าง บุญคลี ปลั่งศิริ อดีตประธานบริษัท และที่ปรึกษาธุรกิจ
อัศวิน ฉายภาพว่า บีเจซี ดำเนินธุรกิจค้าขายสินค้ามา 140 ปี และมีค้าปลีก บิ๊กซี มา 30 ปี ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจกระจายจากฐานทัพไทยไปยังภูมิภาคอาเซียน ทั้งเวียดนาม ลาว มาเลเซีย เป็นต้น
ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยน การแข่งขันสูง โดยเฉพาะ "ค้าปลีก" มีเทคโนโลยีดิสรัป และคู่แข่งทุนข้ามชาติเข้ามา บริษัทฯ จึงต้องการรวมตัวผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อสร้างพลังเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
นอกจากนี้ การเปิดหลักสูตร BASE ไม่เพียงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แต่ยังคาดหวังจะเกิดการปิ๊งไอเดียใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจค้าปลีกของไทย โดยใช้จุดแข็งของกิจการต้นน้ำถึงปลายน้ำของ "บีเจซี บิ๊กซี" ในการทดลองทำโปรเจกต์การค้าต่างๆ เชื่อมโลกได้
"ค้าปลีกเมื่อก่อนเรานำสินค้ามาเสิร์ฟให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย อนาคตอาจนำสินค้าไปหาลูกค้าบ้าง ผ่านช่องทางขายออนไลน์ ออมนิชาแนล แชทช้อป อีคอมเมิร์ซต่างๆ ยังมีหลายอย่างพัฒนาได้ทั้งประเภทสินค้า บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการทำตลาด ที่ต้องเล่าเรื่องหรือสตอรี่ เทลลิ่ง อย่างตอนนี้บิ๊กซีมีการไลฟ์ขายสินค้าประมาณ 4,500 ครั้งต่อเดือน หรือการทำร้านโดนใจ แปลงร้านค้าทั่วไปให้มีโปรแกรมขายหรือพีโอเอสยกระดับการค้า ซึ่งสุดท้ายไอเดียใหม่ๆต้องแก้ปัญหาหรือตอบเพนพอยท์ลูกค้า คู่ค้าให้ดีขึ้น" อัศวิน กล่าว
"ออมนิชาแนล" เชื่อมโลกช้อปปิ้งให้ไร้รอยต่อทั้งโลกออฟไลน์ - ออนไลน์ผ่านร้านค้ามากมายในอาเซียน จึงมองหาเทคโนโลยีมาเสริมแกร่งจากเครือข่ายผู้เข้าเรียน BASE ด้วย ขณะที่ล่าสุดบริษัทฯ ได้ตั้งบิ๊กซี ดิจิทัลสร้างทีมใหม่ 200-300 ชีวิต พัฒนาแอปพลิเคชัน "ซีพลัส" เพื่อลุยขายออนไลน์ผลักดันการเติบโต จากปัจจุบันรายได้กว่า 1.6 แสนล้านบาท ออนไลน์ทำเงินเพียง 4,000-5,000 ล้านบาท โดยแอปพลิเคชัน "ซีพลัส" จะเปิดตัวเดือน พ.ย.นี้ หวังยอดดาวน์โหลด 5 ล้านครั้ง
"ตอนนี้ค้าปลีกแข่งขันสูง ผู้ประกอบการไทยมีเวลาให้ล้มน้อยมาก ล้มแล้วต้องรีบลุก หลักสูตร BASE จึงมีการถ่ายทอดบทเรียนที่พลาดมาแบ่งปันให้วงการค้าปลีก" อัศวิน กล่าว
ธนา แม่ทัพบลูบิคฯ กล่าวว่า กุนซือบุญคลี ซึ่งเคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งอยู่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นผู้ชักชวนพัฒนาหลักสูตร BASE โดยตั้งโจทย์เกี่ยวกับ "คนเก่ง" ยุคปัจจุบันที่ต้องมี Ability to Learn สามารถเรียนรู้ ซึมซับข้อมูล ความรู้ใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม การทำหลักสูตร BASE ที่เจาะลึกรายอุตสาหกรรมไม่ง่าย โดยเฉพาะค้าปลีก การริเริ่มได้ต้องเหมือนการเกิด "สุริยคราส" ที่องค์ประกอบทุกอย่างต้องสอดประสานกันพอดี ทั้งการมีเจ้าภาพ มีกิจการครบครันให้เรียนรู้
"ธุรกิจค้าปลีกเป็น 1 ใน 4 เซ็กเตอร์ที่โดนดิสรัปหนัก การมีหลักสูตร BASE จึงมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ค้าปลีกรอบด้านทั้งการเป็นผู้นำ การตลาด การเล่าเรื่อง การขายสินค้า การเงิน เทคนิคทางบัญชี ฯ เป็นการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการค้าปลีกที่เข้าเรียน" ธนา กล่าว
สำหรับหลักสูตรดังกล่าวนี้ จะเปิดปีละ 2 ครั้ง ค่าคอร์สอยู่ที่ระดับ 190,000 บาท รุ่นแรกเปิดรับ 120 คน โดยวิทยากรคนสำคัญที่จะประเดิมแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านธุรกิจคือ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ผู้ครองอาณาจักรไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป ที่มี "บีเจซี บิ๊กซี" เป็น 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักของเครือ