"ไบเออร์ไทย" จับมือ "สวท" ส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรรายย่อย ผ่านโครงการ GROWTH
"ไบเออร์ไทย" ร่วมมือกับ "สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ (สวท)" มุ่งส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรรายย่อยกว่า 2,500 ราย ใน 10 จังหวัดของไทย ผ่านโครงการ GROWTH (Grow Together Healthier)
เนื่องในโอกาสดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบ 60 ปี ไบเออร์ไทย ร่วมมือกับ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สวท เพื่อดำเนินงานในโครงการ GROWTH (Grow Together Healthier) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการดูแลสุขภาพตัวเองให้กับเกษตรกรรายย่อยกว่า 2,500 ราย ใน 10 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จินอา ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ความมุ่งมั่นในด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นสิ่งที่ ไบเออร์ ยึดมั่นมาอย่างยาวนาน ในปีนี้ บริษัท ไบเออร์ ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบ 60 ปี เราจึงได้ริเริ่มโครงการ GROWTH (Grow Together Healthier) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ปรับปรุงสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทางสังคม ซึ่งโครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเราเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของไบเออร์ที่กำหนดไว้ว่า ทุกคนมีสุขภาพดีและไม่ขาดแคลนอาหาร (Health for all, Hunger for none)
สำหรับโครงการดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงธันวาคม 2565 ในรูปแบบของการให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว และการดูแลตัวเองโดยผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนำเสนอแพลตฟอร์มการให้คำปรึกษาออนไลน์สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมในโครงการนี้
"เราเล็งเห็นว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดี เราได้เห็นผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและเป็นห่วงสุขภาพของผู้อื่นมากขึ้น การระบาดใหญ่ยังทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพลดลงอีกด้วย เนื่องจากความกลัวว่าจะติดเชื้อไวรัส ทำให้หลายคนไม่ได้ไปเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งรวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนครอบครัวด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด" จินอา กล่าว
รศ.ดร. ฤๅเดช เกิดวิชัย นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ (สวท) กล่าวว่า การศึกษาและความรู้เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ พันธกิจของสมาคมฯ คือเพิ่มการเข้าถึงความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้แก่กลุ่มประชากรเป้าหมาย เพื่อให้ประชากรสามารถดูแลอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม มีข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน ตลอดจนเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างเหมาะสม
รศ.ดร. ฤๅเดช กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เกษตรกรในประเทศไทยมีจำนวน 8.09 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลปี 2563) มากกว่าร้อยละ 50 ประสบปัญหาขาดความรู้ที่เหมาะสมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะการวางแผนครอบครัวและวิธีการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี อันเนื่องมาจากขาดการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางการแพทย์ เนื่องจากเวลาว่างของเกษตรกรไม่สอดคล้องกับเวลาทำการของสถานพยาบาลในพื้นที่ของตน นอกจากนี้ เศรษฐกิจในภาคครัวเรือนของเกษตรกรไทย ค่อนข้างต่ำ และเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการหารายได้มากกว่าสุขภาพของตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต
"ความร่วมมือของเราในโครงการนี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว และการดูแลตนเอง เพื่อให้เกษตรกรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา" รศ.ดร.ฤาเดช กล่าว
ภายใต้โครงการนี้ จะมีการจัดการฝึกอบรมภาคสนามขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ รศ.ร.อ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ ร.น.สูตินรีแพทย์ และกรรมการบริหารราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และศ.กิตติคุณ นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรใน 14 พื้นที่ใน 10 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจได้ว่าเมื่อไรเหมาะสมที่จะมีบุตร โดยให้อำนาจแก่สตรีในการตัดสินใจเลือกอย่างมีข้อมูล เพื่อวางแผนอนาคตของครอบครัว พร้อมกับมีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองและรักษาสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ยังได้จัดทำแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาออนไลน์เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการสามารถขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ยังจะได้รับการถ่ายทอดไปยังครอบครัวและเพื่อนอีกด้วย ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการมีสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
สุดท้ายนี้ จินอา กล่าวว่า ที่ ไบเออร์ ความยั่งยืนนับเป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์องค์กรของไบเออร์ เราให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้ผู้คนเข้าถึงการดูแลสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น เราได้มีส่วนร่วมผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในการมอบวิธีแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวกผ่านการมีส่วนร่วมทางสังคมขององค์กรและกิจกรรมที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของเรา เรากำลังผลักดันความมุ่งมั่นของเราที่จะสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตเกษตรกรในประเทศไทยด้วยโครงการ GROWTH แข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ