รู้จัก Bank Run วิกฤติการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ

รู้จัก Bank Run วิกฤติการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ

เดือนมีนาคม 2566 มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเงินในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นั้นคือการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank ธนาคารใหญ่ของสหรัฐ และผลกระทบของมันก็ได้ส่งต่อมายังตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล วิกฤติ Bank Run จะส่งผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ อย่างไรต้องติดตาม

Bank Run คือสถานการณ์ที่ลูกค้าจำนวนมากแห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคาร เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้หรือสภาพคล่องของธนาคาร เหตุการณ์นี้อาจทำให้ธนาคารล่มสลายและแพร่ขยายออกไปจนกลายเป็น วิกฤติทางการเงิน

แม้ Bank Run จะไม่ค่อยเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยนักในปัจจุบัน แต่เมื่อสมัย The Great Depression ช่วงปี 1930 ที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้เกิดเหตุ Bank Run กับหลายธนาคารทั่วโลก เนื่องจากในช่วงปี 1920 ตลาดหุ้นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ธนาคารหลายแห่งจึงลงทุนในหุ้นเป็นมูลค่ามหาศาล แต่เมื่อตลาดหุ้นพังในปี 1929 ลูกค้าจึงแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร แต่ธนาคารไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้เพราะมีเงินสดไม่เพียงพอ รัฐบาลสหรัฐจึงได้ก่อตั้ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ในปี 1933 เพื่อกำกับดูแลเงินฝากและการดำเนินกิจการของธนาคาร

รู้จัก Bank Run วิกฤติการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ

ที่มาภาพ: ft.com

เกิดอะไรขึ้นกับ Silicon Valley Bank

หนึ่งในเหตุการณ์ Bank Run เมื่อไม่นานมานี้ เกิดขึ้นกับ Silicon Valley Bank หรือ SVB ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับที่ 16 ในสหรัฐอเมริกา ถือสินทรัพย์เป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และเน้นให้บริการการเงินกับบริษัทเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่

เนื่องจากบริการของ SVB เป็นที่ต้องการอย่างมากตลอดช่วงปีที่มีการระบาดของ COVID-19 ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองสำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยี เนื่องจากผู้บริโภคหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลกันมากขึ้นในช่วงนั้น

บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งใช้บริการของ SVB เพื่อเก็บเงินสดที่ใช้สำหรับจ่ายเงินเดือนและค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ ทำให้มีเงินฝากเข้ามาใน SVB เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งทาง SVB ก็นำเงินฝากส่วนหนึ่งนั้นไปลงทุนต่อเหมือนกับธนาคารทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะว่า SVB นำเงินจำนวนมากไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่มีอายุยาวนาน ซึ่งพันธบัตรมีความสัมพันธ์แบบสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาพันธบัตรมักจะลดลง ดังนั้นเมื่อ ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ พอร์ตของ SVB ที่ลงทุนหนักไปกับพันธบัตรจึงสูญเสียมูลค่าลงอย่างมาก

ถ้า SVB สามารถถือครองพันธบัตรเหล่านี้ได้เป็นเวลาหลายปีจนครบกำหนด พวกเขาก็จะได้รับทุนคืน แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ ลูกค้าของธนาคารจำนวนมากจึงเริ่มถอนเงินฝาก แต่ SVB มีเงินสดไม่เพียงพอจึงขายพันธบัตรบางส่วนแม้จะขาดทุนหนัก สร้างความหวาดกลัวให้กับนักลงทุนและลูกค้าจนประสบวิกฤติ Bank Run ในที่สุด รัฐบาลสหรัฐจึงได้สั่ง SVB ให้หยุดกิจการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกระทบขยายวงกว้างไปมากกว่านี้

รู้จัก Bank Run วิกฤติการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ ที่มาภาพ: coinculture.com

ผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ

ก่อนที่จะเกิดวิกฤติกับ Silicon Valley Bank ก่อนหน้านั้นไม่นานก็เกิดเหตุ Bank Run กับธนาคาร Silvergate ซึ่งทั้งสองธนาคารต่างเป็นธนาคารหลักสำหรับบริษัทคริปโทฯ และเกือบครึ่งหนึ่งของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ก็เก็บเงินสดไว้กับธนาคาร SVB รวมไปถึงกองทุนที่เป็นมิตรกับคริปโทฯ อีกด้วย

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดเกิดขึ้นกับคริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกจัดอยู่ในประเภท Stablecoin หรือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ โดยเฉพาะ USDC ที่บริษัทผู้ออกเหรียญอย่าง Circle มีการฝากเงินสำรองที่ใช้ตรึงมูลค่าของ USDC ไว้กับ SVB เป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้ถือเหรียญ USDC เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและพากันขายเหรียญ USDC เป็นจำนวนมาก ทำให้มูลค่าของเหรียญลดลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ทั้งๆ ที่มูลค่าขอเหรียญควรใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์ เพราะมีเงินดอลลาร์จริงคอยค้ำประกันอยู่ก็ตาม

Jeremy Allaire ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Circle ได้ทวีตข้อความอธิบายว่า ปัจจุบัน 77% (32.4 พันล้านดอลลาร์) ของเหรียญ USDC ที่มีในตลาดถูกค้ำประกันด้วยตั๋วเงินคลังของสหรัฐฯ และ 23% (9.7 พันล้านดอลลาร์) ถูกค้ำประกันด้วยเงินสดที่เก็บรักษาไว้ในสถาบันหรือธนาคารต่างๆ โดย SVB เป็นเพียงหนึ่งในธนาคารที่ Circle เลือกใช้เพื่อฝากสินทรัพย์เท่านั้น 

จากทวีตดังกล่าวของ Jeremy ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศช่วยเหลือ SVB โดยจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" เพื่อปกป้องสถาบันการเงิน รวมถึงทางกระทรวงการคลังสหรัฐก็ได้ยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB จะสามารถถอนเงินของตัวเองได้เต็มจำนวน จึงทำให้ USDC สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นแถว 1 ดอลลาร์ ได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ USDC เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่การล่มสลายของธนาคารที่เป็นมิตรกับวงการคริปโทฯ ทั้งสองแห่งอาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในการแลกเปลี่ยนเงินสดเป็นคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของทั้งอุตสากรรมเป็นวงกว้างได้ แต่ผลกระทบของมันไม่ได้อยู่แค่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่พวกเราควรทำในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้คือการถือเงินสดเอาไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน อย่าเป็นหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น และหมั่นติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่เสมอ

อ้างอิง Bitkub Blog, Investopedia, CNBC

คำเตือน

  • คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  • สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  • ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต