'คีรี กาญจนพาสน์' ส่งมอบ 'โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี' ให้ อบจ.กาญจนบุรี
"คีรี กาญจนพาสน์" ส่งมอบ "โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี" ให้ อบจ.กาญจนบุรี ปักหมุดสร้างแลนด์มาร์กใหม่ ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ และพิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน
9 พฤษภาคม 2566 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีส่งมอบ "โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี" ณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี, คณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) อาทิ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา, นายคง ชิ เคือง, นายชัยวัฒน์ อัศวินทรางกูร, นางสาวสรญา เสฐียรโกเศศ และคณะผู้บริหารจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อาทิ นายอรรถวิท รักจำรูญ, นายพิสิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี, นายจรันต์ ยิ่งภิญโญ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี, นายอนันท์ ดิษฐศิริ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน ซึ่งโครงการนี้บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้ดำเนินการเข้าซื้อโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี และต้องการที่จะมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีใช้เป็นสาธารณประโยชน์ และพิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน รวมถึงเป็นอาคารอนุรักษ์เพื่อสังคมของจังหวัดก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม จึงต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อาคารโบราณสถานต่างๆ ไว้เพื่อสืบสาน และส่งต่อเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติไทยไปยังคนรุ่นหลัง อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการเข้าบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถึง 3 แห่ง ได้แก่ "โครงการศุลกสถาน โรงภาษีร้อยชักสาม" ซึ่งเป็นอาคารที่มีอายุกว่า 130 ปี โดยได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถานเพื่อเป็นโรงแรมระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่อยู่คู่กับชุมชน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน รวมถึงได้ใช้งบประมาณดังกล่าวเข้าลงทุน "โรงแรม ยูเชียงใหม่" ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น 2552 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้ทำการคงโครงสร้าง อาคารจวนผู้ว่าการเชียงใหม่หลังเก่าไว้ภายในโรงแรม และทำการปรับปรุงเป็นเรสซิเดนซ์ เลานจ์ โดยคงไว้ซึ่งความงดงามของศิลปวัฒนธรรมชาวล้านนา แต่เพิ่มการตกแต่งภายในที่ทันสมัย
นอกจากนี้ยังได้ลงทุนซื้ออาคารสถาปัตยกรรม Sino-Portuguese "คฤหาสน์พระอร่ามสาครเขต" อาคารโบราณสไตล์ชิโน-โปรตุกีส อายุกว่า 100 ปี ย่านใจกลางเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต เพื่ออนุรักษ์อาคารโบราณสถานตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งปณิธานไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากการเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจในด้านต่างๆ ผ่านการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจ Move Mix และ Match แล้ว กลุ่มบริษัทบีทีเอสยังเล็งเห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมประเทศไทยอีกด้วย
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผมไม่ได้ผลักดันโครงการเหล่านี้เพื่อสร้างภาพ ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้น ตั้งแต่อายุ 60 ปี ก็เริ่มสนับสนุนเรื่องการกุศลหลายอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การสร้างโรงเรียนสอนคนตาบอดมกุฏคีรีวันเขาใหญ่ การสร้างโรงพยาบาลมกุฏคีรีวัน อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และการจัดตั้งมูลนิธิฟ้าสั่ง และศูนย์ไตเทียมฟ้าสั่ง เพราะรู้สึกว่าเราผ่านอะไรมาเยอะแล้ว จึงบอกตัวเองว่า ต่อจากนี้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนคืนสังคม แต่สไตล์ของผมไม่ชอบบริจาคเงินแล้วจบกัน อยากไปสร้างด้วยมือตัวเอง เพราะกลัวว่าจะไปไม่ถึงมือคนที่เราอยากให้ได้รับประโยชน์จริงๆ เลยเลือกที่จะทำเองแล้ว ค่อยส่งมอบให้ โครงการเหล่านี้ใช้คำว่า "คีรีและเพื่อน" คือเพื่อนๆ พอรู้ว่า เราทำก็อยากจะช่วยทำบุญทำกุศลด้วย ถ้าปล่อยตัวเองให้แก่จนอายุ 70-80 ปี คงไม่มีแรงทำอะไรเพื่อสังคมแล้ว จึงต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ที่สำคัญการจัดงานในครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ "Paper Mill Night Market ชิคแอนด์ชิลเที่ยวกาญจน์เอง" ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยการนำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ ทันสมัย ตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดกาญจนบุรี
โรงงานกระดาษไทย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2481 โดยวิศวกรและนายช่างจากประเทศเยอรมนี และเป็นสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาท่ามกลางโบราณสถานกำแพงเมืองเก่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม จึงสร้างโรงงานกระดาษนี้ขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ต่อเนื่องจากที่สามเสนในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นแห่งแรกที่มีการผลิตครบวงจร และใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ ขณะนั้น
นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณที่หาชมได้ยาก ต่างขนานนามให้เป็น "มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย และเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมของกาญจนบุรี" เป็นแหล่งชุมชนที่มีเรื่องราว และอิทธิพลต่อสังคมในเมืองกาญจนบุรี ณ สมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเหมือนเดิม ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกที่ประเทศไทยอีกด้วย