เพชรบูรณ์เขียวขจี! รับมือเอลนีโญด้วย "อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก"
เพื่อรับมือสภาพอากาศแปรปรวนในอนาคต "กรมชลประทาน" เร่งดำเนินแผนงานระยะยาว พัฒนา "โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดําริ" จังหวัดเพชรบูรณ์ คาดจะเก็บกักน้ำได้ 22.69 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่กว่า 24,000 ไร่ได้ประโยชน์
ขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านนี้อยู่ในช่วง ลานีญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณฝนที่ค่อนข้างมาก
ส่วนปีนี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประเมินว่าจะเกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ สอดคล้องกับที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งค่อนข้างล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย อีกทั้งปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 และจะมีฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เป็นช่วงของปีการเพาะปลูก 2565/2566 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้ว เป็นไปตามแผนการจัดการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ กรมชลประทาน ได้วางไว้
ส่วนในช่วงฤดูฝนนี้ กรมชลประทานได้วางแผนรับมือปรากฏการณ์ "ลาณีญา" โดยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนการจัดน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ การเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด และการประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการในระยะยาวก็จะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเก็กกักน้ำไว้สำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีความสำคัญต่อพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมชลประทานได้ดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีโครงการที่ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ จำนวน 6 โครงการ และจะเริ่มดำเนินการศึกษาในปีนี้อีก จำนวน 2 โครงการ
สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน
ด้าน วิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานเร่งดำเนินการแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในระยะยาวในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกทั้งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในอนาคตซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
โดยได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในแผนพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์
สำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำถึง 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขง แต่จะมีส่วนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมากที่สุดถึงร้อยละ 70 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีแม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ยาวประมาณ 350 กิโลเมตร
สุชาติ กาญจนวิลัย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า
“ที่ผ่านมาจังหวัดเพชรบูรณ์ เผชิญทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จะอยู่สองฝั่งของแม่น้ำป่าสัก แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปานกลาง และเสี่ยงสูง ส่วนพื้นที่เผชิญภัยแล้ง มักพื้นที่ลาดชัน และภูเขาสูง โดยร้อยละ 60 ของพื้นที่ ถือว่ามีปัญหาภัยแล้งระดับต่ำ และอีกร้อยละ 35 มีปัญหาภัยแล้งระดับปานกลาง ที่เหลือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง”
สุชาติ กาญจนวิลัย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์
ปัจจุบัน จังหวัดเพชรบูรณ์มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กประเภทต่างๆ จำนวน 232 แห่ง รวมความจุทั้งหมดประมาณ 210 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 457,163 ไร่ และมีแผนที่จะพัฒนาโครงการขนาดกลางที่มีศักยภาพอีก 44 โครงการ ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนจะเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกประมาณ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร
สุชาติ กล่าวอีกว่า ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ราษฎรตำบลบ้านโตก จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำ ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ที่บ้านน้ำจาง ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือ จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทั่ง ปี 2561 มีผลการศึกษาโครงการพบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นแห่งกักเก็บน้ำได้อีก 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำบ้านโตก ตำบลบ้านโตก จากนั้นในปี 2564 ได้บรรจุโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ 8 โครงการ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรวมถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจางและอ่างเก็บน้ำบ้านโตกด้วย แต่เนื่องจากทั้ง 2 โครงการ มีพื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณที่เป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
“โครงการฯนี้จะมีพื้นที่รับประโยชน์ถึง 24,140 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรในตำบลบ้านโตก ตำบลชอนไพร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ รวม 16 หมู่บ้าน และปริมาณน้ำที่ส่งให้จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เช่น ส่งให้พื้นที่ชลประทาน 15.23 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี แบ่งเป็นช่วงฤดูฝนประมาณ 19,630 ล้านไร่ ฤดูแล้ง 14,520 ล้านไร่ เพื่ออุปโภคบริโภค 1.32 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี รวมถึงน้ำเพื่อปศุสัตว์ อุตสาหกรรมและน้ำเพื่อรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำด้วย และนอกจากนี้ยังมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ อธิบาย