ไขข้อข้องใจการรักษา'มะเร็งต่อมน้ำเหลือง'พบกันในงาน 10 กันยายน 2566
ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จัดงาน"ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข" ให้ความรู้การรักษาโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเรื่องเล่าการต่อสู้กับมะเร็งในวันที่ 10 กันยายนนี้
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จัดเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งในบรรดาโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปีทุกช่วงอายุประมาณ 7000 คนต่อปี
มะเร็งชนิดนี้พบได้ 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายอดจำนวนผู้ป่วยมีแนวโนมสูงขึ้น
ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย จึงจัดเสวนา "ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข ครั้งที่ 9 เนื่องใน “วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก” (15 กันยายนของทุกปี) งานจัดวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 12.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มะเร็งชนิดนี้ ถือเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งในกลุ่มมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา
"เป็นมะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองได้ทุกที่บริเวณของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณรักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้ เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น"
สาเหตุมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดจาก
- การติดเชื้อทั้งไวรัส เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV), ไวรัสเอชซีวี (HCV), ไวรัสอีบีวี (EBV) การติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา, สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช
ดังนั้น การป้องกันของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาให้หายขาดได้
แม้จะอยู่ในระยะท้ายๆ ของโรคก็ตาม ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มี 4 วิธี ได้แก่
- 1. การใช้เคมีบำบัด
- 2. การใช้ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบันได้มีการคิดค้นยากลุ่มใหม่ๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้มากยิ่งขึ้น และมีใช้อย่างแพร่หลาย
- 3. การฉายแสง สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดหรือก้อนมะเร็งที่โตเฉพาะที่
- 4. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ในผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ
- 5. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันเซลล์มะเร็งบำบัด CAR-T Cell (Chimeric Antigen Receptor T-Cell Therapy) ซึ่งวิธีการนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงศึกษาและวิจัย
กิจกรรมงานปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข ครั้งที่ 9
- วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 12.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
- การบรรยายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”
- ถาม-ตอบ ไขข้อข้องใจด้านนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- แบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยแพทย์หญิงณัฐรดา คชนันทน์ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง Non-Hodgkin Lymphoma ระยะที่ 4 เจ้าของเพจ “พักก้อน” และต่าย ติตยาพร คงคาทิพย์ อดีตผู้ป่วย Hodkin Lymphoma ระยะที่ 4 เจ้าของเพจ “มาจะเล่าให้ฟัง Cancer WITH ME”
- พบกับแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด ในช่วง “By Your Side : มีเรา..เคียงข้างคุณ”
- ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่มีค่าใช้จ่าย
- https://forms.gle/eEJXQN3jVBXv6oes9
- https://www.facebook.com/thailymphoma