BKP จับมือ กรมวิชาการเกษตร ยกระดับเกษตรกรปลูกข้าวโพดได้มาตรฐาน GAP
BKP จับมือ กรมวิชาการเกษตร ยกระดับการอบรมเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก้าวสู่มาตรฐานสากลเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก ถ่ายทอดองค์ความรู้เพาะปลูกตามมาตรฐาน GAP โดยนำร่องพัฒนาเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนากลาง จังหวัดนครราชสีมา
บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ BKP ร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร จัดอบรมถ่ายทอดความรู้และพัฒนาแนวทางการเพาะปลูกข้าวโพดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ให้แก่กลุ่มเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนนากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ปรับปรุงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัดว์เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการตรวจประเมินเพื่อรับรองเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรในทุกขั้นตอนของการผลิตในระดับไร่และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของเกษตรกร
โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของบริษัทฯ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้านความยั่งยืนและแก้ปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสร้างห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายด้านการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรของ ซีพีเอฟ ตามแนวทาง "ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ"
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า "ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ" เป็นแนวทางหลักที่บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จัดหาผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งเพาะปลูกจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ว่าปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและปราศจากการเผาหลังเก็บเกี่ยว ในฐานะผู้นำในธุรกิจจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ บริษัทฯ เป็นบริษัทไทยรายแรกที่นำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับห่วงโซ่การผลิตอาหารสัตว์ ทั้งนี้การส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกตามแนวปฏิบัติ GAP ถือเป็นส่วนหนึ่งช่วยพัฒนาขีดความสามารถเกษตรกรสู่มาตรฐานสากล เพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน และพร้อมนำระบบตรวจสอบย้อนกลับของบริษัทฯ เป็นต้นแบบให้กับภาคอุตสาหกกรรมโดยรวม
"การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่มาตรฐาน GAP ต่อยอดจากโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน ที่บริษัทฯ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ช่วยเกษตรกรมีความรู้ในการผลิตข้าวโพดมีคุณภาพตรงตามตลาดต้องการ ลดต้นทุน มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรเป็นหนึ่งในแนวทางที่สนับสนุนนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ (Sustainable Sourcing Policy and Supplier Guiding Principle) ของ ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการ จัดซื้อวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่ตรวจสอบย้อนกลับได้มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่า"
นายวรพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า GAP ช่วยให้เกษตรกรมีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพสูง ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาจากแหล่งบุกรุกพื้นที่ป่า ไม่ใช้วิธีการเผาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไทย มีส่วนร่วมจัดการปัญหาฝุ่นที่เกิดจากการเผาเศษซากวัสดุทางการเกษตรและหมอกควันอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมีเกษตรกรในโครงเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืนกว่า 11,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 3 แสนไร่ ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% สูงกว่าเกษตรกรที่อยู่นอกโครงการฯ และบริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยตรวจติดตามการเผาหลังเก็บเกี่ยวของเกษตรกรที่ลงทะเบียน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการจัดการเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม