'ธันยลักษณ์ พรหมมณี' นำผ้าไหมไทยและศิลปะบนผืนผ้า ไปจัดแสดงที่อุซเบกิสถาน
"ธันยลักษณ์ พรหมมณี" ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย นำผ้าไหมไทยและศิลปะบนผืนผ้า ไปจัดแสดงในงาน International Biennale of Applied Arts ครั้งที่ 4 ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน
18 ตุลาคม 2566 ธันยลักษณ์ พรหมมณี หรือ ธันย่า ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย เดินหน้าขับเคลื่อนการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมไทย เป็น Soft Heart Smart Power ภายใต้โครงการทูตอัตลักษณ์ไหมไทยสู่เส้นทางไหมโลก โดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำผลงานจัดแสดงโชว์ในงาน International Biennale of Applied Arts ครั้งที่ 4 ณ Museum of Applied Arts ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ตามคำเชิญของ Mr. Fakhriddin Sultanov กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย
โดยไฮไลต์ของงานคือ การจัดแสดง ชุดไทยพระราชนิยม 8 ชุด ได้แก่ 1. ชุดไทยเรือนต้น 2. ชุดไทยจิตรลดา 3. ชุดไทยอมรินทร์ 4. ชุดไทยบรมพิมาน 5. ชุดไทยจักรี 6. ชุดไทยดุสิต 7. ชุดไทยศิวาลัย และ 8. ชุดไทยจักพรรดิ์ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ "ธันย่า" เมื่อครั้งไปเรียนหลักสูตรเเฟชั่นเเละดีไซน์จากสถาบันอีสตีตูโตมารังโกนี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงเครื่องประดับชุดไทยโบราณ อาทิ เข็มขัด, กำไล และสังวาล เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นคอลเลกชันของของสะสมล้ำค่าของธันย่าเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีชุดเครื่องทองเหลืองโบราณอย่างเตารีดและปิ่นโต จาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งธันย่าไปได้มาเมื่อครั้งไปดูงานในหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมาภิบาล รุ่น 1 ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนับว่าหาชมได้ยาก และยังมีสะดึงปักผ้า ผ้าปัก หมอนสามเหลี่ยม จากงานฝืมือการปักหน้าหมอนสามเหลี่ยม จากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ด้วย
นอกจากนี้ "ธันย่า" ยังส่งเสริมความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวอุซเบกิสถาน ด้วยการประชาสัมพันธ์ "ข้าวไทย" ข้าวอินทรีย์หอมมะลิที่นำมาจากสมาชิกในชุมชนบ้านบางแตน จังหวัดปราจีนบุรี และสินค้าแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กล้วยฉาบ มันทอด และเผือกทอด รวมถึง "ดอกมะลิ" งานฝีมือไม้ประดิษฐ์ จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ธันย่า บอกกับผู้ร่วมงานว่า ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่ของไทย คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงริเริ่มการอนุรักษ์ส่งเสริมผ้าทอไทย จนได้รับความนิยมอย่างมาก จากนั้นได้นำเข็มกลัดดอกมะลิบรรจงติดให้กับแขกผู้เกียรติและสื่อมวลชนที่มาร่วมงาน สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก
สำหรับการเดินทางเยือนประเทศอุซเบกิสถานของทูตอัตลักษณ์ไหมไทยในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมผ้าไหมและศิลปะประยุกต์ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดและส่งเสริมศิลปะของทั้งสองชาติผ่านผืนผ้า โดย "ธันย่า" ยังได้เยี่ยมชมวิธีการผลิตเส้นใยไหมและการย้อมสี ณ โรงงาน Yodgorlik ทั้งยังร่วมเจรจากับหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของอุซเบกิสถาน ได้แก่ กองทุนเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรม องค์การมรดกทางวัฒนธรรม และสมาคมผู้ผลิตผ้าไหมเพื่อแสวงหาความร่วมมือที่จะริเริ่มโครงการร่วมกัน และเยี่ยมชมศูนย์กลางช่างฝีมือ "Hurnarmand" เพื่อสร้างความร่วมมือในการช่วยกันส่งเสริมศิลปะประยุกต์ของทั้งสองชาติ ด้วยลวดลายบนผืนผ้าที่จะบอกเล่าถึงประเพณีและคุณค่าที่ยั่งยืน
"ในฐานะที่เป็นทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมและการสวมใส่ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ซึ่งการร่วมงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยวัฒนธรรมการแต่งกาย ซึ่งหลังจบการจัดแสดงโชว์ ธันย่าได้มอบชุดไทยพระราชนิยม 8 ชุด พร้อมเครื่องประดับ ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะประยุกต์แห่งรัฐอุซเบกิสถาน เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยวัฒนธรรมการแต่งกาย และหนังสืองามสมบรมราชินีนาถ ของพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มอบไว้แด่ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติอุซเบกิสถาน มีทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฉบับภาษาไทย"
Mr. Fakhriddin Sultanov กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและอุซเบกิสถาน มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกัน การจัดงานครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ โดยขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวไทยมาร่วมชมนิทรรศการนี้กันได้ โดยงานจะจัดแสดงไปถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566