กลัวสูญพันธุ์! เปิดใจ 2 พี่น้องนักอนุรักษ์ผุดโครงการ'อิ่มท้องน้องเต่า'
เปิดใจ 2 พี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ เจ้าของโครงการ "อิ่มท้องน้องเต่า" เพิ่มโอกาสรอดชีวิตเต่าทะเลคืนความสมดุลห่วงโซ่อาหารใต้โลกท้องทะเล
จากโลกยุคสมัยใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยี่อนาคตเข้ามาและขยายวงกว้างขึ้นจนผู้คนห่างเหินธรรมชาติ สัตว์ป่าสัตว์ทะเลเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เกาะติดวัตถุนิยมกันมากกว่าใช้ชีวิตสัมผัสกับธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้รักและหวงแหนธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เด็กหรือเยาวชนไม่สนใจเลย เช่น นายอริณชย์ หรือน้องอิน ทองแตง อายุ 16 ปี และ ด.ญ.อริสา น้องเอม ทองแตง อายุ 14 ปีสองพี่น้องที่ถือได้ว่าเป็นเยาวชนหัวใจนักอนุรักษ์ ที่ร่วมกันทำโครงการชื่อ Below the Tides: Zero Starving Sea Turtles (อิ่มท้องน้องเต่า)
โดยการเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ ทุกคนร่วมกันอนุบาลลูกเต่าทะเล เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของเต่าทะเลจาก 0.1% กรณีที่ปล่อยไปตามธรรมชาติให้สูงขึ้นถึง 70% ปัจจัยหลักในการมีชีวิตรอดคือไม่ตกเป็นเหยื่อสัตว์นักล่าอื่นๆ ซึ่งโอกาสรอดจะอยู่ที่ขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสมของลูกเต่าทะเล ซึ่งน้ำหนักต้องไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม และความยาวไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ขณะปล่อยคืนสู่ท้องทะเล
นายอริณชย์ เปิดเผยว่า เกิดจากพวกตนสองพี่น้องมีความชื่นชอบสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะเต่า ที่บ้านจะเลี้ยงเต่า ทั้งเต่าบก และเต่าน้ำจืด ประกอบกับเมื่อปีที่ผ่านมาคุณแม่ได้พาไปเกาะมันใน จ.ระยอง เป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสถานที่อนุบาลลูกเต่าทะเลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล แห่งแรกของประเทศไทย พอได้ไปเจอและรับทราบถึงปัญหาของเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ที่กำลังเป็นวิกฤติระดับโลก รวมถึงเรื่องของการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกเต่าหลังฟักออกมาจากไข่ ซึ่งทางผอ.ศูนย์วิจัยชายฝั่งทะเลฯ ตอนนั้นบอกอยากได้เงินมาอุดหนุนเพิ่มเติมมาอนุบาลเต่า ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ "อิ่มท้องน้องเต่า"
นายอริณชย์ เผยอีกว่า ส่วนที่ชื่นชอบเต่าทะเลเพราะชอบและแปลกใจที่เต่าทะเลเกิดมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ อายุ 110 ล้านปี ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์เพราะไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้วแต่เต่ามันสามารถมีอายุยืนและปรับตัวจนกระทั่งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เป็นอะไรที่น่าพิศวงเลยทำให้สนใจ โดยเฉพาะเต่าทะเล มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศใต้น้ำมาก อย่างอาทิที่ชอบกินแมงกระพรุน กินในจำนวนที่มากๆก็จะคุมระบบนิเวศไม่ให้มีแมงกระพรุนมากเกินไป ช่วยกินหญ้าทะเล เป็นควบคุมปริมาณหญ้าทะเล เพราะหากมีมากเกินไปก็จะมีผลต่อระบบน้ำทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นได้ นอกจากนั้นยังช่วยกินพวกฟองน้ำแถวๆปะการังทำให้ตัวปะการังไม่โดนเบียดเบียนพื้นที่ทำให้เติบโตได้อย่างสวยงาม ทำให้ระบบใต้น้ำมันสมดุลย์ อีกอย่างการที่มันกินทุกอย่างเสร็จแล้วมันก็จะว่ายน้ำไปทั่วแล้วไปขยายพืชพันธุ์อย่างหญ้าทะเล ฟองน้ำในพื้นที่อื่นให้มีการเจริญเติบโตอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีก
ด้านด.ญ.อริสา เผยว่า รู้สึกดีใจภูมิใจที่ผู้ใหญ่ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของโครงการ ได้มีโอกาสเข้าพบ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยท่านบอกชื่นชมเยาวชนเด็กรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาสนใจประโยชน์ส่วนรวม สิ่งแวดล้อม แล้วมาแอคทีฟ เปิดโครงการแบบนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างแม้จะเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่ แต่ท่านก็มองว่าการที่เด็กๆขึ้นมาคิดทำสิ่งนี้แบบทำเองโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางโรงเรียน ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักสนใจในเรื่องของสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบันนี้ จึงมองว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงทรัพย์ฯ อยากจะสนับสนุนเยาชนให้เยอะเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
ด.ญ.อริสา ยังเผยอีกว่า ทั้งนี้ท่านยังได้ถามด้วยว่าอยากให้กระทรวงฯช่วยเรื่องอะไรมากขึ้น ได้บอกไปว่าอยากให้ทางกระทรวงเพิ่มความตระหนักรู้ เพิ่มความเข้าใจในเรื่องของการดูแล รักษาเต่าทะเลให้กับประชาชนให้มากขึ้น เพราะมองว่าตอนนี้คนเข้าใจผิดว่าการปล่อยลูกเต่าทะเลตัวเท่าเหรียญบาทคืนสู่ท้องทะเลเป็นการทำบุญ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ กลับกลายเป็นการทำบาปเพราะปล่อยไปอย่างไรก็ตาย จึงอยากให้ทางกระทรวงฯช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนว่าถ้าจะให้เต่าทะเลรอดชีวิตได้ จำเป็นต้องเป็นอย่างไร ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการอิ่มท้องน้องเต่าของพวกตน คือต้องอนุบาลเต่าทะเลให้ได้ขนาดและน้ำหนักตามที่ต้องการคือ 2 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย หรือมีขนาดความยาว 30 ซม. หรือเลี้ยงประมาณ 200 วัน ก่อนปล่อยสู่ทะเล
“เพราะเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมกันคิดโครงการขึ้นมาเพื่อเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูลูกเต่าทะเล ให้มีขนาดน้ำหนัก ความยาวตามความเหมาะสม ก่อนปล่อยคืนสู่ทะเลเพื่อความอยู่รอด โดยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกเต่าจนได้ตามขนาดที่ต้องการ เป็นค่าอาหาร และค่ายา ในการอนุบาลลูกเต่า 100 ตัว เฉลี่ยตัวละ 30 บาทต่อวัน หรือ 6,000 บาทต่อตัว ตลอดระยะเวลาประมาณ 200 วัน เพื่อให้น้องๆ แข็งแรงพอที่จะกลับคืนสู่บ้านใต้ท้องทะเลอีกครั้ง โดยจะนำเงินบริจาคส่งมอบให้กับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้กระทรวงทรัพยากร เพื่อนำไปใช้เป็นค่าอาหาร ยา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุบาลลูกเต่า 100 ตัว ต่อไป” ด.ญ.อริสา ระบุ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการ "อิ่มท้องน้องเต่า" - Below the Tides: Zero Starving Sea Turtles ผ่านเว็บไซต์ เทใจ เพื่อคืนความสมดุล ของห่วงโซ่อาหารในโลกใต้ทะเลได้ที่ https://taejai.com/th/d/below-the-tides-zero-starving-sea-turtles_an/