“คลาวด์เซค” จับมือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม”
“คลาวด์เซค” จับมือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม”
ตั้งหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด และ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม จัดพิธีลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม CalCes เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Master of science in Professional CyberSecurity) และหลักสูตรระยะสั้นด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Short Courses) สำหรับผู้บริหาร ตั้งเป้าผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญป้อนองค์กรรัฐและเอกชน พร้อมเปิดศูนย์ความปลอดภัยเพื่อช่วยเหลือสังคมห่างไกลภัยคุกคามไซเบอร์
นายกฤษณยศ บูรณะสัมฤทธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ Cybersecurity ยังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม จึงก่อให้เกิดเป็นปัญหาภัยคุกคามทางเทคโนโลยีอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น บริษัทในฐานะผู้นำในการบริหารด้านความปลอดภัยสารสนเทศ และเทคโนโลยีโซลูชั่น และเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศมากว่า 20 ปี จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปกป้องข้อมูลและระบบสารสนเทศ จากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับบุคคล องค์กร และระดับชาติ
สำหรับในประเทศไทยต้องยอมรับว่าปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ที่มีอยู่ขณะนี้ นับได้ว่าถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บุคลากรที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้กลับมีไม่เพียงพอ และมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนอย่างสูงในอนาคต สาเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาในการจัดตั้งหลักสูตรร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เพื่อที่จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งนักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้บริหารองค์กร ที่ถือได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันความปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
“โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงาน หรือนักศึกษาที่เรียนจบในสาขาที่เกี่ยวข้อง และครอบคลุมบุคลากรที่จบในสาขาอื่น แต่มีภาระหน้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญต่างๆ อาทิ เจ้าหน้าที่การเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล การสื่อสารภายในองค์กร การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริหารและปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ จึงคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มบุคลากรที่มีประสิทธิภาพให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง ส่งเสริมองค์กรและภาคธุรกิจให้กระจายแนวคิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงสร้างความรับผิดชอบทางสังคมและวงการธุรกิจในการปกป้องและรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ต่อไป” นาย
กฤษณยศ กล่าว
ด้าน ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาในประเทศไทยยังไม่เคยมีหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่มุ่งเน้นภาคปฏิบัติอย่างจริงจังมาก่อน จึงทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำข้อตกลงร่วมกับ บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างยาวนาน ครอบคลุมทั่วทั้งเอเซียแปซิฟิก รวมถึงเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นจะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสามารถปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง
“ทั้งนี้ วิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ โดยในปี 2565 ได้มีการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ทันสมัย สอดรับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต มุ่งเน้นในการผลิตบุคลากรที่สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม Calces ณ ชั้น 11 อาคารโครนอส สาทร ด้วยพื้นใช้สอยประมาณ 250 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องฝึกอบรม ห้องแล็ปที่ทันสมัย ห้องประชุมสัมมนา และพื้นที่เล้าจ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าอบรม นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกอบรม Calces ยังสามารถรองรับการจัดสัมมนาวิชาการสาขาอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศได้อีกด้วย”
“สำหรับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะมี ดร.วาริน แคร่า (Dr.Varin Khera) ผู้อำนวยการ Calces Lab รับหน้าที่เป็นวิทยากรหลัก โดยศูนย์ฝึกอบรม Calces จะเข้ามาเสริมความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประเทศไทย ด้วยการผสมผสานความรู้ทางวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กับการใช้งานจริง โครงการนี้จึงนับได้ว่าเป็นความร่วมมือที่จะพลิกโฉมวงการการศึกษาของประเทศไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีวิทยากรพิเศษที่มาจากพันธมิตรของ
คลาวด์เซค เอเซีย จะเข้ามาร่วมให้ความรู้อีกหลายบริษัท รวมถึงมีแนวทางในการพาผู้อบรมไปศึกษาดูงานยังบริษัทต่างๆ ในเครือของพันธมิตรอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2567”
ผศ.พรพิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย