TMA ชู AI for Deep Tech พร้อมโชว์ผลงานผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนักเทคโนโลยีดีเด่น 2567
TMA ชู AI for Deep Tech จุดประกายความคิด ผลักดันนวัตกรรมต่อยอดงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจ โชว์ผลงานผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนักเทคโนโลยีดีเด่น 2567
15 ตุลาคม 2567 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เตรียมจัดงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ Outstanding Technologist Awards & TechInno Forum 2024 ภายใต้หัวข้อ AI for Deep Tech ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 ระหว่างเวลา 13.00 – 18.00 น. ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ
นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และประธานกลุ่มบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวถึงหัวข้อการจัดงานครั้งนี้ว่า ปัจจุบัน AI เป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังถูกจับตามองอย่างมาก และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายด้าน ประเด็นที่น่าสนใจคือการประยุกต์ใช้ AI ในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างไร ซึ่งในงานนี้ได้รับเกียรติอย่างมากที่ Dr. Pablo Garcia Tello จาก CERN ที่เป็นองค์กรระดับโลก จะมาแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจนี้
นอกเหนือจากการสัมมนาในหัวข้อดังกล่าวโดยองค์กรชั้นนำแล้ว ในงานยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยองค์กรต่างๆ และนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ จุดประกายความคิด สร้างโอกาสและเครือข่ายต่อยอดความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจ พร้อมนำเสนอผลงานผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2567 เพื่อผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
รางวัลสำหรับนักเทคโนโลยีที่มีผลงานโดดเด่น
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ยังได้ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ คัดเลือกนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้นักวิจัยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 3 ราย ได้แก่
- รศ.ดร. นงลักษณ์ มีทอง โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อวัสดุกักเก็บพลังงานจากแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในประเทศไทย
- ดร. ไพศาล ขันชัยทิศ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยเรื่องกระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์
- ดร.อัญชลี มโนนุกุล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์
ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 2 ราย ได้แก่
- รศ.ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับผลงานวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีการออกแบบอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะเฉพาะบุคคลที่มีน้ำหนักเบาและความเข้ากันได้ทางด้านชีวกลศาสตร์
- รศ.ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยเรื่องหุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายผสานการขับเคลื่อนด้วยล้อสนับสนุนการเคลื่อนไหวมนุษย์
น.สพ. รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ศักยภาพในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ได้จริงอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ และยังส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลกอีกด้วย มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการพิจารณาคัดเลือกผลงานและมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการและนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถจำนวนมากในประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในงานยังจะมีกิจกรรม TechInno Mart พื้นที่พิเศษที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ มาจัดแสดงแนะนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยี พบปะพูดคุยสร้างโอกาสและขยายเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจสู่การพาณิชย์ด้วย อาทิ บริษัท รู้ดี จำกัด บริษัท วิสอัพ จำกัด บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี Origgin Ventures Pte Ltd. (The deep-tech Venture Creator of Singapore) สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงผลงานของผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567
งาน Outstanding Technologist Awards and TechInno Forum 2024 ภายใต้หัวข้อ AI for Deep Tech ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และออนเนกซ์ บาย เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง