พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

สำรวจนวัตกรรมเกษตร กับโอกาส และความท้าทายของภาคเกษตร และอาหารไทยในเวทีโลก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ และภูมิอากาศที่มีความผันผวนสูงในปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) คาดว่า การผลิตอาหารโลกจะเพิ่มขึ้นราว 70% ภายในปี 2050 เพื่อรองรับขนาดประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคน
  • การทรงตัวของโครงสร้างเกษตรกรรมไทยในช่วง 9 ปีหลัง ภาวะชะงักงันของการลงทุน และงานวิจัยที่ถดถอยลงเหลือเพียง 15-20% ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อายุเฉลี่ยเกษตรกรที่สูงกว่า 55 ปี ล้วนเป็นข้อท้าทายของภาคเกษตรของไทย
  • กลุ่มสตาร์ทอัพเกษตรก็เป็นอีกขาหนึ่งที่ต้องเร่งผลักดัน ซึ่งปัจจุบันที่มีเพียง 81 ราย โดยมูลค่าการลงทุนในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรที่มีอยู่กว่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 พันล้านบาท
  • สิ่งที่ ListenField สตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming Technology) ขับเคลื่อนนั้น เป็นการผสานเทคโนโลยีเพื่อใช้สำหรับ Farm Management ที่สร้างโมเดลขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร กระดูกสันหลังของมนุษยชาติ วันนี้กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะภาวะโลกรวน (Climate Change) คือภาวะที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นแล้วส่งผลให้ผืนดิน ผืนน้ำ มหาสมุทร รวมถึงสภาพภูมิอากาศ และฤดูกาล มีความเแปรปรวนไปจากแต่ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร และความมั่นคงทางอาหาร

ขณะเดียวกัน ด้วยฐานการผลิต ความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายในภาคเกษตรที่โดดเด่นของประเทศไทย ถือเป็นทั้งโอกาส และความท้าทาย โดยมี นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการเกษตร เป็นตัวแปรสำคัญ

นวัตกรรมเกษตร แรงขับอุตสาหกรรมเกษตรโลกยุคใหม่

เมื่อเกษตรกรรม และอาหาร ถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญที่สุดต่อโลกใบนี้ ไม่ว่าในมิติของชีวิต หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ตาม แนวโน้มความต้องการอาหารของโลกมีแต่ไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

หากเทียบเคียงประมาณการนำเข้าอาหารทั่วโลกในปี ค.ศ. 2024 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 หรือ มูลค่าเกินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) คาดว่า การผลิตอาหารโลกจะเพิ่มขึ้นราว 70% ภายในปี 2050 เพื่อรองรับขนาดประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคน

การพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้กับอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดจนแนวโน้มการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่กำลังพลิกโฉมการเกษตรของโลกใบนี้ให้เปลี่ยนไป โดยมีหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ เป็นตัวแปรสำคัญ

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประเทศออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น ได้นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการทำเกษตร และจะเติบโตอย่างมากในปี 2025 ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าตลาดหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรสูงถึง 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้หลายประเทศที่เคยไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ และทักษะการทำเกษตรที่ดีในอดีต สามารถก้าวมาเป็นผู้นำภาคเกษตรในอนาคตได้ อย่าง เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล หรือสิงคโปร์ เป็นต้น

นวัตกรรมเกษตรได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีอย่าง เกษตรกรรมที่แม่นยำ เทคโนโลยีชีวภาพ การทำฟาร์มดิจิทัล และฟาร์มแนวตั้งอัจฉริยะกำลังพัฒนาไปอย่างมาก ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมในภาคเกษตรอย่างแท้จริง

นวัตกรรมเกษตรไทย กับโอกาส และความท้าทายที่รออยู่

องคาพยพด้านการเกษตรทั่วโลกกำลังถูกเทคโนโลยีขับเคลื่อนไป สำหรับประเทศไทยเอง ก็หนีไม่พ้นกระแสของความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเหมือนกัน และถือเป็นหนึ่งในข้อท้าทายของภาคเกษตรของไทยเองด้วย

ทั้งการทรงตัวของโครงสร้างเกษตรกรรมไทยในช่วง 9 ปีหลัง จากภาวะชะงักงันของการลงทุน และงานวิจัยที่ถดถอยลงเหลือเพียง 15-20% ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อายุเฉลี่ยเกษตรกรที่สูงกว่า 55 ปี ทั้งหมด ล้วนส่งผลต่อการลงทุนเพื่อปรับตัวด้านการผลิต หรือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทำให้วันนี้ เกษตรกรไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ปลูกพืชมวลชนมูลค่าต่ำ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา มีการใช้เทคโนโลยีเพียง 15% เท่านั้น

พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

การลงทุนด้านนวัตกรรมการเกษตรในไทยจึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรแบบก้าวกระโดดอีกด้วย

การพัฒนานวัตกรรม-เทคโนโลยีการเกษตร สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ได้มีการขยับในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด มีการดำเนินตามนโยบายบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับลูกค้าทั่วโลก ผ่าน 2 ด้านหลัก คือ

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยทางด้านอาหารด้วยการทำเกษตรอัจฉริยะ
  2. สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในสินค้าเกษตร โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องอัดฟางหลังการเก็บเกี่ยวข้าวที่ใช้ในกระบวนการทำเกษตรปลอดการเผา

บริษัท เจียไต๋ ผู้ผลิตที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำก็มีการสร้างโซลูชั่นทางการเกษตรจาก 5 สายธุรกิจที่มี ตั้งแต่การวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ต้านทานโรค และทนทานต่อสภาพอากาศ การใช้โดรนเพื่อการเกษตรในโซลูชั่นนาข้าว เพื่อตรวจสอบสภาพการเจริญเติบโตของพืช การวิเคราะห์ดิน และการจัดการการให้น้ำ

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน สวนยายดา ‘เจ๊บุญชื่น’ IRPC Smart Farming จังหวัดระยอง เป็นกรณีศึกษาการบูรณาการนวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น

พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

นอกจากบริษัทขนาดใหญ่ กลุ่มสตาร์ทอัพเกษตรก็เป็นอีกขาหนึ่งที่ต้องเร่งผลักดัน ซึ่งปัจจุบันที่มีเพียง 81 ราย โดยมูลค่าการลงทุนในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรที่มีอยู่กว่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 พันล้านบาท

สำหรับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA หน่วยงานที่มีบทบาทในฐานะ Focal Conductor หรือ ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ผ่านเครื่องมือ 4 กลไกหลัก คือ Groom-Grant-Growth-Global

โดย NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนวัตกรรมในระดับพื้นที่ด้วยการสร้างโอกาสและความร่วมมือด้านนวัตกรรม และเข้าถึงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐิกจพิเศษที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาสของนวัตกรรม การลงทุนในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน นำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากการใช้ประโยชน์จากศักยภาพเชิงพื้นที่ และเกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำเนินงานกิจกรรม AgriFood Connext จัดเป็นกลไก Growth เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ให้สามารถเพิ่มยอดขายจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สร้างโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดการลงทุน นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งสร้างและยกระดับศักยภาพวิสาหกิจฐานนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภูมิภาค (16 จังหวัด)

นอกจากนี้ NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำสมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรของประเทศไทย ซึ่งรวบรวมข้อมูลการระดมทุนที่มาจากการศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์เชิงลึกจาก AgTech Startup จำนวน 40 บริษัท พบว่า มีการลงทุนตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี 2020 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 772 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนที่ต่อเนื่องในแต่ละปีที่ผ่านมายังมีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้านบาท จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก และเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

นวัตกรรมเกษตรไทย ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน

การเติบโตของอุตสาหกรรมมักเดินควบคู่ไปกับนวัตกรรมเสมอในภาคอุตสาหกรรมเกษตรก็เช่นเดียวกัน ListenField เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่มี ดร.นุ่น-รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ นักวิจัยหญิงชาวไทยเป็นผู้นำทีม

สิ่งที่ ListenField สตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming Technology) ขับเคลื่อนนั้น เป็นการผสานเทคโนโลยีเพื่อใช้สำหรับ Farm Management ที่สร้างโมเดลขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตที่สามารถบ่งบอกถึงธาตุอาหาร สภาพอากาศแวดล้อมในบริเวณที่พืชชนิดนี้ขณะปลูกอยู่นั้นเป็นอย่างไร และปลูกโดยเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายไหน สามารถนําไปใช้ที่หลากหลายทั้งส่วนของการเกษตร ภัยพิบัติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเด่นคือการสร้าง Application ที่สามารถบันทึกข้อมูลไว้ออนไลน์และพิมพ์ออกมาเป็นรายงาน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะหายหรือหลงลืม

พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

โครงการนี้ พัฒนามาจากงานวิจัย AmbiSence Engine ระบบบริหารจัดการเซ็นเซอร์บนคลาวด์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2007 ปัจจุบัน มีการปรับมาทําเป็นรูปแบบ Cloud Service โดยตั้ง Server ของตัวเอง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล โดยโครงการดังกล่าวได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลชมเชย ด้านเศรษฐกิจเมื่อปี 2007 ได้เข้าร่วมออกบูธงาน Startup Thailand เมื่อปี 2020 ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB จัดงาน Agtect Connext เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรมากกว่า 50 ราย ปี 2021 และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ปี 2024

ผู้บริหาร ListenField ยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ในการแข่งขันกันด้วยราคาอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป สิ่งสำคัญคือการสร้างคุณภาพและอัตลักษณ์ให้ผู้บริโภคจดจำ โดยเน้นการให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน

การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรรมไทยจึงเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรตรกร ยังถือเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ

อนาคตเกษตรไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม

ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อความต้องการทรัพยากร หรือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศคู่ค้า ทุกอย่างล้วนเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเกษตรของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำทั้งสิ้น

ประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญของโลก จากพื้นที่เพาะปลูกกว่า 150 ล้านไร่ และส่งออกผลผลิตทางการเกษตรติดอันดับต้นๆ ของโลกในหลายพันธุ์พืช แต่ในแง่ของศักยภาพการแข่งขันผลผลิตต่อไร่ของไทยยังถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ

การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรมไทยยังเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ ในปัจจุบัน ไทยกำลังเผชิญกับการเสียดุลการค้าให้กับประเทศจีนเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะในด้านสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยแทบจะไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้เลย

กลับกัน การเกษตรและอาหาร ไทยถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญเหนือจีน ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 8 ของโลก (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์) จีนแม้จะมีพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับ 3 ของโลก แต่บริเวณที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกกลับมีเพียง 1 ใน 3 ทำให้ ณ ปัจจุบันจีนต้องยังคงต้องพึ่งพา “การนำเข้าอาหาร” จากต่างประเทศ ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับภาคเกษตรกรรมไทยในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีน อีกด้วย

พลิกโฉมเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

โดยนวัตกรรม ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของการสนับสนุน และส่งเสริมศักยภาพของภาคเกษตรไทย ไม่ว่าจะสนับสนุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ

ทั้งหมดเพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปเป็นฐานการผลิตภาคเกษตรที่สำคัญของโลก หรือ ยุทธศาสตร์ ครัวโลก ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังนั่นเอง

 

 

ที่มาข้อมูล :