กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ‘นักประดิษฐ์ สร้างผลงานเพื่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ’ ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ครั้งที่ 24 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ
ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 จำนวน 165 รางวัล
เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมท้ังเพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่ได้ค้นคว้าวิจัย และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และทรงมีพระดำรัสเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ความสำคัญว่า
“การวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างให้เศรษฐกิจของชาติมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก เศรษฐกิจของประเทศดีย่อมจะส่งผลดีในด้านการประกอบการและรายได้ของภาคประชาชน สร้างเสริมให้ฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนดียิ่งขึ้น
งานวันนักประดิษฐ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้มีความรู้ความสามารถในทางประดิษฐ์คิดค้นเป็นจำนวนมาก หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมก็จะมีกำลังใจให้คิดค้นสิ่งที่เป็นคุณแก่สังคม ชาติ บ้านเมือง
การประดิษฐ์คิดค้นควรมีวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ ในทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงในทุกด้าน อันจะเกิดผลเป็นความเจริญอย่างยั่งยืน
งานวันนักประดิษฐ์ยังเป็นแรงจูงใจ และเป็นแนวทางแก่เยาวชน ตลอดจนผู้นิยมชมชอบการประดิษฐ์ให้เกิดความคิดที่จะผลิตผลงานที่มีประโยชน์ เป็นการใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถในทางที่เหมาะสม”
จากนั้น เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์
นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2T นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์
นิทรรศการเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์จากหน่วยงานเครือข่าย 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว
จุดเริ่มต้นมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จาก 24 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน โครเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (IPITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 2023 เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วจึงเสด็จกลับ
นายรัชพล เต๋จ๊ะยา โรงเรียนสตรีวิทยา เจ้าของผลงาน “การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย” ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถึงการประดิษฐ์คิดค้นกระจกเกรียบ เผยว่า
“พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งชื่นชมว่าเป็นงานที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อให้เกิดการอนุรักษ์ งานกระจกเกรียบถือเป็นงานศิลปกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว
แต่วันนี้ได้มาเห็นกระจกเกรียบที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ทำให้ยินดีว่ากระจกเกรียบอย่างโบราณฟื้นคืน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการบูรณะราชภัณฑ์ และโบราณสถานต่างๆ ส่วนตัวผมรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ผลงานของเราจะเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ”
การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดจากแนวคิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” เป็นการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในอดีต ด้วยเทคนิคใหม่
คือนำวัตถุธาตุในท้องถิ่นมาผสมแล้วบดเป็นผงหลอมหลวมกับตะกั่ว จนได้น้ำแก้วร้นอมาดาดเทลงบนแผ่นโลหะเรียบเสมอกัน จากนั้นกดด้วยแท่งโลหะทองเหลืองกำหนดความหนาบาง จนได้แผ่นแก้วตามต้องการ และมีความคล้ายคลึงกับกระจกเกรียบสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบูรณะโบราณสถาน สถาปัตยกรรมไทยที่มีการประดับกระจกเกรียบ และสามารถนำไปพัฒนาหัตถศิลป์พื้นบ้าน งานประดับเครื่องศิราภรณ์ งานปักไทยประดับกระจกเกรียบ หรืองานศิลปหัตถกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงการค้าได้
ด้านผลงาน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” เป็นนวัตกรรมเท้าเทียมที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอน ไฟเบอร์ ทนทาน แข็งแรง มีน้ำหนักเบา
มีความยืดหยุ่นเสมือนมีข้อเท้าที่สามารถงอขึ้นลงบิดซ้ายขวาได้เหมือนเท้าคนปกติ และสามารถเก็บและปล่อยพลังงานคืนในจังหวะที่เหมาะสมซึ่งเหมาะกับผู้พิการขาขาดที่ยังคงมีความแข็งแรงอยู่ ให้สามารถกลับมาเดินและวิ่ง ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ผลงานประดิษฐ์โดย รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิริธร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อีกหนึ่งผลงานที่ได้ทอดพระเนตร
รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ กล่าวว่า “พระองค์ท่านทรงจำได้ว่าเคยทอดพระเนตรผลงานเท้าเทียมนี้มาก่อน ทรงมีรับสั่งถามว่านี่คือผลงานที่เคยแสดงในงานจุฬาวิชาการ ที่คณะวิศวะฯ ใช่ไหม (ประมาณปี พ.ศ. 2560)
พระองค์ท่านทรงเล่าว่า เมื่อครั้งที่หกล้ม คุณหมอสั่งไม่ให้เดินมาก ตอนนั้นรู้สึกกลัวเดินไม่ได้มาก คิดว่าผู้พิการก็คงรู้สึกเหมือนกัน การคิดสิ่งประดิษฐ์นี้ก็จะเป็นประโยชน์สามารถสร้างความสุขให้เขาได้
นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งถามว่า ผลงานนี้จะออกสู่สาธารณชนหรือยัง จึงกราบบังคมทูบตอบว่าได้เปิดเป็นบริษัทผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว”
งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 24
เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”
ปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติ ร่วมนำเสนอผลงานกว่า 1,000 ผลงาน ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา.