เมื่อโรงเรียนอเมริกาห้ามใช้ปัญญาประดิษฐ์ | ไสว บุญมา
ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดครั้งต่อไป จนได้สมญาว่า “คลื่นลูกที่ 5”
หลังจากการเกษตรกรรมทำให้เกิดคลื่นลูกที่ 1 เครื่องจักรกลทำให้เกิดคลื่นลูกที่ 2 เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดคลื่นลูกที่ 3 และเทคโนโลยีพันธุวิศกรรมกำลังทำให้เกิดคลื่นลูกที่ 4
บริษัทเทคโนโลยีกำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพราะเชื่อกันว่าปัญญาประดิษฐ์จะช่วยมนุษย์ให้บรรลุเป้าหมายพร้อมกับสร้างกำไรมหาศาล เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่สร้างกำไรให้ทุกครั้งในระหว่างการสร้างคลื่น 4 ลูกดังกล่าว
ประโยชน์มหาศาลของเทคโนโลยีเป็นที่รับรู้การอย่างขว้าง อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีมีคำสาปแฝงมาด้วยเสมอซึ่งมักไม่เป็นที่รับรู้กัน คำสาปของมันอาจแสดงออกมาทางปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งบางอย่างเกิดจากความตั้งใจของผู้ใช้และบางอย่างเกิดจากความไม่ตั้งใจ
ปรากฏการณ์ที่เกิดจากความตั้งใจ หรือเจตนาร้ายของผู้ใช้อาจมองเห็นได้ไม่ยากนัก เช่น ผลของการใช้อาวุธในการก่ออาชญากรรมและทำสงครามโลก ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจมักมองเห็นอยากกว่า เช่น ผลเสียต่อสุขภาพของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผลผลิตจากภาคเกษตรกรรม
เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ก็เช่นกัน มันจะมีประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะในด้านการช่วยมนุษย์ทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีโทษ หรือคำสาปแฝงมาด้วย คำสาปนี้จะเกิดได้ทั้งจากการเจตนาใช้ไปในทางก่อให้เกิดโทษและการมิได้ตั้งใจ
เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ในนครซานฟรานซิสโก ได้เปิดให้คนทั่วไปใช้โปรแกรมชุดปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ดิจิทัลต้นแบบของตนชื่อ ChatGPT
ปัญญาประดิษฐ์ชุดนี้มีความสามารถหลากหลายที่ผู้ใช้อาจสั่งให้มันทำ พร้อมทั้งตอบคำถาม หรือแก้ข้อสงสัยได้สารพัดผ่านการพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต
ปรากฏว่ามีผู้สนใจอย่างกว้างขวางจากทั่วโลกและทดลองใช้ให้ทำสิ่งต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมันสามารถเขียนเรียงความและทำงานหลายอย่างแทนนักเรียนได้
คณะกรรมการโรงเรียนในเขตการศึกษาเริ่มห้ามนักเรียนเข้าถึงมันจากคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน เริ่มต้นโดยมหานครนิวยอร์ก ตามอย่างรวดเร็วโดยนครลอสแอนเจลิสและบัลติมอร์ ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น
ทางฝ่ายโรงเรียนมองเห็นอันตรายของการปล่อยให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนนักเรียนทันที เนื่องจากนักเรียนจะไม่มีโอกาสพัฒนาการคิดเชิงวิเคราะห์และกระบวนการแก้ปัญหา อันเป็นเป้าหมายหลักของการศึกษา
ส่วนผู้ต่อต้านการห้ามมิให้นักเรียนใช้มองว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิตต่อไป ฉะนั้น นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ในการอยู่กับมันและใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างรวดเร็ว
ยิ่งกว่านั้น การห้ามใช้ในโรงเรียนจะไม่เกิดผลตามต้องการ เนื่องจากนักเรียนสามารถเข้าถึงผ่านคอมพิวเตอร์นอกโรงเรียนได้ ทางที่ดีกว่าจึงควรเป็นการหาวิธีที่โรงเรียนจะใช้มันช่วยสอนด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ และกระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- นักศึกษาในสหรัฐ สร้าง ‘GPTZero’ แอปตรวจจับบทความที่ใช้ ChatGPT เขียน
- ทำไมโรงเรียนในนิวยอร์กจึงสั่งปิดกั้น ChatGPT ?
- ChatGPT เอไอวายร้ายการศึกษา ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
อย่างไรก็ดี ข้ออ้างนี้ดูจะสรุปง่ายเกินไปสักนิด ทั้งนี้เพราะปัญญาประดิษฐ์ชุดนี้เพิ่งออกมาให้ลองใช้ไม่กี่สัปดาห์ คงยากที่ครูจจะสามารถเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้และนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างถูกต้อง
อนึ่ง ในช่วงเวลาอันสั้นหลังจากมันออกมา ผู้ที่ทดลองใช้มักประทับใจในศักยภาพของมัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ให้คำตอบและข้อมูลผิด ๆ อยู่เสมอ ข้อมูลผิดจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับบริบท แต่ที่แน่นอนคือมันไม่มีผลดี
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจมาก ได้แก่ ความเป็นกลางทางจุดยืนในด้านต่างๆ ไม่ว่าทางด้านสังคมหรือการเมือง เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ชุดนี้สร้างโดยคนซึ่งมีจุดยืนของตนเอง
ฉะนั้น โปรแกรมที่พวกเขาเขียนไว้อาจเอียงไปทางจุดยืนของพวกเขาได้ ทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อระบบที่ประเทศกำลังใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย หรือการไม่ให้รังเกียจผิวพรรณ
ในการถกเถียงกัน ทั้งสองฝ่ายให้เหตุผลน่าฟัง อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ชุดนี้เพิ่งออกมาใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับการปรับแก้หลังจากได้รับข้อมูลทั้งด้านประโยชน์และด้านโทษ หรือคำสาปจากผู้ทดลองใช้
การที่โรงเรียนห้ามใช้จนกว่าครูเองจะเข้าใจและรู้ว่าจะใช้ให้มีประสิทธิผลสูงสุดอย่างไร จึงมองได้ว่าน่าจะถูกต้อง