หนูน้อยนักประดิษฐ์ อวด “หลังพร้อม” คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ
“หลังพร้อม” สิ่งประดิษฐ์ของนวัตกรน้อย รร.สาธิตจุฬฯ คว้ารางวัลใหญ่ที่สุดในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ที่กรุงโซล พร้อมโชว์ผลงานให้ชมในงาน “วันนักประดิษฐ์” 2-6 ก.พ. ที่ไบเทคบางนา
หนูน้อยนักประดิษฐ์ 3 คน น้องโชกุน ด.ช.พิชชากร - น้องมิคัง ด.ญ.พัทธ์ธีรา อรพิมพันธ์ สองฝาแฝด และน้องแบลล์ ด.ญ.พัทธวรรณ พิบูลธรรม นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เล่าถึงผลงาน เก้าอี้หลังพร้อม ที่พิชิตรางวัล Grand Prize รางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า
เก้าอี้ "หลังพร้อม" ผลงานของหนูน้อยนักประดิษฐ์
“ชื่อผลงาน หลังพร้อม เกิดจากช่วงโควิดที่ต้อง Learn Form Home นั่งเรียนอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊คเป็นเวลานาน ๆ อาจนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกายปวดเมื่อย จึงอยากหาตัวช่วยที่คอยเตือนเราเมื่อนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสม หรือเตือนให้เราปรับท่านั่งให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือนั่งเก้าอี้
เก้าอี้หลังพร้อมจะมีเซ็นเซอร์ที่หลัง 4 จุด และที่ก้น 2 จุด โดยออกแบบเซ็นเซอร์ให้ตรวจจับน้ำหนักของท่านั่งว่าเราทิ้งน้ำหนักตัวให้หลังและก้นสมดุลกันหรือไม่ และเซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลมาที่ Control Box ถ้าเรานั่งไม่สมดุลและเป็นเวลานานก็จะมีเสียงเตือนให้เราปรับท่านั่ง
น้องแบลล์ - มิคัง กับโชกุน
และยังออกแบบการทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่น ที่จะแสดงผลพร้อมบันทึกข้อมูลการนั่งในแต่ละวัน หากเรานั่งในท่าที่ถูกต้อง Control Box ก็จะไม่แจ้งเตือน และสามารถตั้งเป้าหมายการนั่งที่ถูกต้อง ยังเปลี่ยนเป็นเกมการแข่งขันกับผู้ที่ใช้งานหลังพร้อม สามารถสะสมคะแนนแลกเป็นไอเทมในเกมได้อีกด้วย”
น้องโชกุน น้องมิคัง สองฝาแฝด และน้องแบลล์ ช่วยกันอธิบาย
น้องโชกุน
“หลังพร้อม เป็นงานต้นแบบ ต่อไปสามารถพัฒนาฟังก์ชั่นและแอพฯ ให้สามารถใช้งานได้จริงและมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น คุณหมอกระดูก หรืออาจารย์ด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง
พวกหนูหวังว่าในอนาคต ทุกคนจะสามารถใช้งานหลังพร้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพ บุคลิกภาพที่ดีจากการใช้งานหลังพร้อม
น้องมิคัง
และอยากชวนเพื่อน ๆ ที่สนใจมาลองคิด ลองประดิษฐ์งานนวัตกรรมกันเยอะ ๆ ลองคิดโจทย์จากปัญหารอบตัวว่า เราต้องการนวัตกรรมแบบไหนมาช่วยแก้ไขปัญหา แล้วจะรู้ว่างานนวัตกรรมไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพื่อน ๆ ก็จะได้สนุกกับการประดิษฐ์คิดค้น ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย” หนูน้อยนวัตกรเล่า
น้องแบลล์
ครูหนึ่ง - อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ หัวหน้าโครงการสร้างสรรค์งานนวัตกรรม ศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ในฐานะ “ครูผู้สร้าง” ผู้ช่วยสานฝันให้นวัตกรน้อย เล่าว่า
“แรงบันดาลใจของศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม จุดเริ่มต้นมาจากตัวเองที่เป็นคนคิดนอกกรอบ อยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จนเมื่อปี พ.ศ.2557 มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในทีมสร้างนวัตกรรมกับ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จนสามารถคว้ารางวัลในเวทีนานาชาติมาได้หลายเวที
อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์
จากนั้นได้พบกับ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช, รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต และ ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ทั้งสี่ท่าน ทำให้เราพบว่า สิ่งสำคัญที่จะสร้างงานนวัตกรรมได้ต้องเริ่มจากการสร้างคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ต้องเริ่มหว่านตั้งแต่ระดับชั้นประถม
ผมสอนหนังสือคลุกคลีกับเด็ก ๆ มาหลายปี มองว่าเด็ก ๆ เขามีความคิด มีจินตนาการ เพียงแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้แสดงออกอย่างถูกวิธีและเป็นรูปธรรม ผมจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับอาจารย์ทั้งสี่ท่าน ทุกท่านก็เห็นพ้องต้องกัน จึงได้ริเริ่ม โครงการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมสำหรับนักเรียน เพื่อแข่งขันระดับนานาชาติ มีเด็ก ๆ รวมกลุ่มมาสมัครเข้าโครงการประมาณ 6 กลุ่ม ใช้เวลาในวันเสาร์มาระดมสมอง ตกตะกอนความคิดว่ากลุ่มไหนจะสร้างอะไร โดยมีผมและอาจารย์ทั้งสี่ท่านมาเป็นที่ปรึกษา
เก้าอี้หลังพร้อม
โครงการแรกเริ่มเดือนกรกฎาคม 2558 เราตั้งเป้าหมายว่าจะส่งผลงานเด็กแข่งขันในงาน Seoul International Invention Fair (SIIF) 2015 ที่ประเทศเกาหลีใต้ จัดขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะผลงานของนักเรียนได้รับรางวัลกลับมาทุกทีม ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และ Special Award เราก็กลับมาพัฒนางานกันต่อเพื่อไปร่วมประกวดที่เจนีวา ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีอีกเช่นกัน
แต่สิ่งที่เราแฮปปี้มากกว่ารางวัล คือการที่มีตัวแทนจากหลาย ๆ ประเทศเข้ามาชื่นชมและถามเราว่า ประเทศไทยมีหลักสูตรสร้างเด็กนวัตกรรมแบบนี้ด้วยหรือ ด้วยความที่เขาอาจคิดว่าระบบการศึกษาบ้านเรายังไม่พัฒนาเท่าเขา
ผมก็ตอบกลับไปว่าเราไม่ได้มีหลักสูตร แต่เราเชื่อว่าเด็กมีความฝัน มีความคิดสร้างสรรค์ เราก็แค่สร้างฝันเขาให้เป็นจริง ตรงนี้ก็เป็นการพิสูจน์ว่าเด็ก ๆ ก็เป็นนวัตกรได้ ขอแค่ให้ผู้ใหญ่เชื่อ ให้โอกาส สนับสนุน ให้เขาได้ลงมือทำ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีวันนี้ก็ร่วม 7 ปีแล้ว”
ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการปั้นนักประดิษฐ์น้อย โครงการสร้างสิ่งประดิษฐ์คือสร้างมูลค่า แต่จะสร้างได้ต้องเริ่มที่ “คน” ก่อน
“ผมมองว่าจะไปสร้างในช่วงมหาวิทยาลัยคงไม่ทัน เราต้องสร้างตั้งแต่วัยเด็ก การสร้างเด็กไม่ใช่ว่าให้เขาสร้างงานแล้วขายได้เลย แต่สร้างให้เด็กมีทักษะด้านงานนวัตกรรม ทักษะที่จะติดตัวเขา วิธีการคิด การพัฒนา ผมไม่ได้มุ่งหวังว่าเด็กไทยจะต้องเป็นแบบนั้นทุกคน แต่มองว่าเราสร้างเขาวันนี้ 100 คน อาจจะเหลือปลายทาง 5-10% ก็ไม่เป็นไร
แต่เราต้องการให้เด็กมีทักษะ เกิดกระบวนการความคิดเหล่านี้ไปจนโต วันหนึ่งเขาจะไปคิดเองว่าจะสร้างอะไรให้เกิดมูลค่า เกิดธุรกิจ หรือช่วยแก้ปัญหา ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและประเทศไทยได้ในอนาคต”
ครูหนึ่ง เสริมอีกว่า ความสำเร็จของศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ไม่เพียงความสำเร็จจากการคว้ารางวัล หากคือได้ลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์นวัตกรหนูน้อย ที่จะเติบโตเป็นนักสร้างนักประดิษฐ์ของประเทศในวันข้างหน้า
“ผลงานนวัตกรรมของเด็กวัยประถมแห่งนี้ ไม่ได้เพียงแค่โกยรางวัลมานับไม่ถ้วน แต่มีผลงานที่เข้าตาจนมีผู้มาเจรจาขอซื้อผลงานของน้อง ๆ ไปใช้จริงอีกด้วย
ตัวอย่างเช่นผลงาน ถังขยะแก้วน้ำรักษ์โลก ได้เข้าร่วมแข่งขันในงาน 44th International Exhibition and Invention of Geneva 2016 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศและ Special Award กลับมา
ในวันนั้นมีผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส มาติดต่อขอซื้อถังขยะแก้วน้ำรักษ์โลก 400 ใบ เพื่อเอาไปใช้ในโรงเรียน ซึ่งทั้งครูและนักเรียนก็ตื่นเต้นดีใจมาก แต่เมื่อกลับมาปัญหาของเราคือไม่สามารถผลิตให้เขาได้ ด้วยข้อจำกัดว่าเราเป็นหน่วยงานการศึกษา การหาโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานการส่งออก เราจะขายสิทธิบัตรให้เขาไปผลิตเองเขาก็ไม่เอา
หรือผลงานนวัตกรรม The IoT Smart School ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของนักเรียนที่ต้องต่อคิวเพื่อแตะบัตรเข้าออก รวมถึงการจอดรถรอรับส่งของผู้ปกครอง ผลงานชิ้นนี้ก็ไปถูกใจผู้ใหญ่จากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย อยากได้นวัตกรรมนี้ไปใช้ทั่วเมืองมุมไบ แต่เรายังไม่สามารถขายให้ได้เพราะยังเป็นตัวต้นแบบที่ยังต้องพัฒนาต่อ
ซึ่งตรงนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่าการจะสร้างงานนวัตกรรมเขาต้องรู้ว่าจะสร้างเพื่ออะไร ช่วยแก้ไขปัญหาของใครได้บ้าง และเป็นงานที่สามารถสร้างมูลค่า สร้างรายได้ในอนาคต ก็จะเป็นผลักดันให้เขาไม่หยุดที่จะคิด พัฒนาทักษะของตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ”
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ผลงานประดิษฐ์ของหนูน้อยมีนับร้อย ๆ ผลงาน ไม่มีผลงานชิ้นไหนที่ครูคนนี้จะไม่ภาคภูมิใจ และมากกว่ารางวัลคือการมีส่วนสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีประโยชน์ และทุกครั้งที่นำเด็กไปร่วมงานงานประกวด ครูหนึ่งมักจะบอกเด็ก ๆ เสมอว่า
“รางวัลแพ้ชนะไม่สำคัญเท่ากับการที่เราชนะตนเอง และเวทีส่วนใหญ่ที่ไปร่วมแข่งขันเด็ก ๆ ต้องแข่งข้ามรุ่นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงภูมิใจในตัวเองว่าเราสามารถแข่งขันกับคนที่โตกว่าได้”
ครูหนึ่ง บอกอีกว่า ถ้าอยากให้เด็กมีความคิด มีจินตนาการ ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนเต็มที่ เปิดใจ เปิดเวทีให้แสดงผลงาน
“บ้านเรายังไม่มีเวทีให้เด็กๆ ได้แสดงผลงานมากพอ และเราไม่มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเขาโดยตรง หมายถึงผู้ใหญ่ที่เข้าใจธรรมชาติในเด็กว่า เขาสามารถทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร
วันนี้เราวางรากฐานให้เด็ก ๆ มีพื้นฐานการสร้างนวัตกรรมได้ 100 คน เมื่อเขาเติบโตไปอาจมีเด็ก ๆ ในวันนี้ไปเป็นนักประดิษฐ์ หรือเป็นนวัตกรในอนาคตได้สัก 2 คน ผมถือว่าเราทำสำเร็จแล้วครับ
สำหรับผม ผลงานกับรางวัลมันเป็นปลายทาง แต่ระหว่างทางคือทักษะที่เขาจะได้รับและเก็บเกี่ยวนำไปใช้ต่อไปในอนาคต นั่นคือสิ่งสำคัญ”
ชมผลงาน หลังพร้อม ของหนูน้อยนักประดิษฐ์วัยประถม ที่คว้ารางวัลนานาชาติ ในงาน วันนักประดิษฐ์ 2566 วันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา