กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย เพื่อสุขภาวะที่ดีสู่ปวงประชา และสรรพชีวิต ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้วยแรงบันดาลพระทัยของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงติดตามสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปทรงเยี่ยมและบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้ทรงเข้าพระทัยถึงปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ขาดการเข้าถึงด้านการแพทย์และบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังทรงพระเมตตาไปถึงสุขภาพของสัตว์ ที่สามารถนำโรคภัยต่าง ๆ มาสู่คนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริการตรวจรักษาเป็นไปอย่างทั่วถึงและครบวงจร จึงโปรดให้มีการออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการดูแลสุขภาพอนามัย การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชน ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2566
ในการนี้ ทรงเยี่ยมและพระราชทานกำลังใจแก่ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือพอ.สว. ประจำจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนของแต่ละพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลครบุรี โรงพยาบาลหนองกี่ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลศรีสะเกษ เป็นต้น ที่ไปร่วมให้บริการตรวจสุขภาพและรักษาโรคทั่วไป พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนในพื้นที่
รวมถึงให้บริการด้านทันตกรรม และแพทย์แผนไทย อันเป็นการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขอนามัยของประชาชนให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีผู้เข้ารับบริการ รวมทั้งหมด 371 คน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ คือ โรคระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
จากนั้น พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แก่ปศุสัตว์จังหวัดของแต่ละพื้นที่ สำหรับนำไปฉีดให้แก่สัตว์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เนื่องจากปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ซึ่งยังมีการระบาดในบางพื้นที่ เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางน้ำลาย เช่น ถูกกัดหรือถูกเลียบริเวณบาดแผล จะทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิต ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า แต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
พร้อมกันนี้ ทรงงานทางสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ผ่าตัดทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยงของประชาชน และสัตว์จรจัด เพื่อคุมกำเนิดถาวรประชากรสัตว์ ไม่ให้มีจำนวนที่มากเกินความดูแล สำหรับขั้นตอนการผ่าตัดทำหมัน มีการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ทุกตัวเป็นอย่างดี ตั้งแต่การให้ยานำสลบ การเฝ้าระวังสัญญาณชีพด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการสัตวแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อประเมินความปลอดภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในพื้นที่ต่าง ๆ นับเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกในระดับท้องถิ่น ภายใต้ความร่วมมือของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและผ่าตัดทำหมัน เพื่อควบคุมอัตราการแพร่ขยายพันธุ์ประชากรสุนัขจรจัดในพื้นที่
ตลอดจนการรณรงค์สร้างรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกวิธี เป็นไปตามพระประสงค์ที่จะให้ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถ่องแท้ ซึ่งปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า เป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่มีอันตรายแก่ชีวิต จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนสร้างความร่วมมือกันและขยายผลถ่ายทอดสู่ชุมชน พร้อมร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้ผู้เลี้ยงสัตว์ และดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทอดทิ้งสัตว์ให้กลายเป็นภาระแก่สังคมต่อไป ทั้งนี้ สรุปผลการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ มีการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมว รวม 715 ตัว และผ่าตัดทำหมัน รวม 698 ตัว
ด้วยพระกรุณาธิคุณที่พระราชทานการรักษาพยาบาล และการป้องกันโรค เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนชาวไทย รวมไปถึงสัตว์จรจัดและสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยเป็นไปตามพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการรณรงค์ส่งเสริมการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ที่เชื่อมโยงแนวทางการปฏิบัติด้านสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับนานาชาติในอนาคต