ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” (Madama Butterfly)
วันนี้ (23 กรกฎาคม 2567) เวลา 19:46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” (Madama Butterfly) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เฝ้าทูลละอองธุรีพระบาท รับเสด็จ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “Madama Butterfly Costume: The Making of” การออกแบบชุดของนักแสดงโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI (สิ-ริ-วัน-นะ-วะ-รี) สำหรับชุดของนักแสดงออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ทรงออกแบบเสื้อผ้า นักแสดงหลัก 9 ตัวละคร รวมจำนวน 14 ชุด และอีกจำนวน 40 ชุด ออกแบบโดยทีมงานแบรนด์ SIRIVANNAVARI
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กราบบังคมทูลรายงาน วัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี และมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ร่วมกันขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
สำหรับ การแสดงอุปรากร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” (Madama Butterfly) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นบทประพันธ์เรื่องเยี่ยมของ ปุชชินี (Giocomo Puccini) คีตกวีชาวอิตาลี ที่เล่าถึงเรื่องราวความรักของนายทหารหนุ่มชาวอเมริกันที่เข้ามาประจำการที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น และได้แต่งงานกับเกอิชา สาวน้อยอายุเพียง 15 ปี นามว่า “โจโจ้ซัง” ซึ่งในบทประพันธ์นี้ มีทั้งเรื่องราวความสุข ความซื่อสัตย์ การรอคอยและการหักหลัง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมเพื่อสังเวยความรัก จัดแสดงครั้งแรกที่โรงอุปรากรสกาลา กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ในปี 2447 ถือเป็นเป็นโอเปล่าเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำออกแสดงมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก
ทั้งนี้ บทประพันธ์เรื่องดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร, พระองค์ทรงถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวพระราชทานแก่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จนต่อยอดมาเป็นบทละครร้องเรื่อง "สาวเครือฟ้า" พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หรือ พระนามปากกาว่า ประเสริฐอักษร
สำหรับการแสดงครั้งนี้ เกิดขึ้นจากพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยพระองค์ ได้ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ในปี 2563 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
โดยทรงเป็นผู้อำนวยการแสดง, การออกแบบฉากและเครื่องแต่งกาย พร้อมทรงคัดเลือกนักแสดงหลัก 9 คน จาก Opera Production กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และเปิดคัดเลือกนักแสดงไทย ในบทนักแสดงสมทบ และนักร้องประสานเสียง กว่า 40 คน บรรเลงดนตรีโดยวงดุริยางค์ RBSO อำนวยเพลงโดย นายวาเลนทิน อีเกล (Mr.Velentin Egel) ผู้อำนวยเพลงชาวเยอรมัน
ภายหลังจบการแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญช่อดอกไม้พระราชทาน ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และมอบแก่ศิลปินและนักแสดง
ในครั้งนี้
วงมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ มีผลงานสำคัญต่างๆ มากมาย ทั้งยังเป็นวงออร์เคสตร้าของประเทศไทยที่ได้รับโอกาสออกแสดงคอนเสิร์ตในฐานะทูตวัฒนธรรมยังต่างประเทศมากมาย อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี, มาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐฝรั่งเศส