พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมั่น ในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรม ดังเป็นที่ประจักษ์เมื่อครั้งเกิดเหตุความไม่สงบในประเทศกัมพูชา ก่อกำเนิดศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด

นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยนั้น

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมั่น ในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรม ดังเป็นที่ประจักษ์เมื่อครั้งเกิดเหตุความไม่สงบในประเทศกัมพูชา ก่อกำเนิดศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด

ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน เดิมชื่อศูนย์สภากาชาดไทย เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย จัดตั้งศูนย์รับผู้อพยพชาวกัมพูชาจำนวนนับแสนคน ณ บริเวณเขาล้าน ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จัหวัดตราด

พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในตอนนั้น สถานการณ์ภัยสงครามรุนแรง ส่งผลให้มีประชาชนหลั่งไหล่เข้ามาในประเทศไทยผ่านบริเวณชายแดนอย่างไม่ขาดสาย เกินกว่าทางจังหวัดตราดจะรับมือได้ นายปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดขณะนั้น จึงติดต่อขอความช่วยเหลือในชั้นต้นมายังสภากาชาดไทย เพื่อขอความอนุเคราะห์ยารักษาโรค เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหารและสิ่งของจำเป็น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เลขาธิการสภากาชาดไทย นำความขึ้นกราบบังคมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เมื่อครั้งดำรงพระอิสสริยศกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย โดยลำดับ

พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการฉุกเฉิน โดยมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและความปลอดภัยของพระองค์ ทรงเยี่ยมราษฎรระหกระเหินเอาชีวิตรอดจากภัยสงคราม รวมกันอยู่ที่บ้านเขาล้านจนไปจรดชายทะเล ระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งทรงเป็นแบบอย่างของผู้ให้ที่ไม่แบ่งแยก ดังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชนิพนธ์ว่า

“ฉันยังจำได้ดี เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2522 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับแรม ที่หัวหิน ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดแจ้งมาว่ามีเขมรลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาในเขตไทยบริเวณเขาล้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ผ่านเข้ามาทางแนวเทือกเขาบรรทัดจำนวนกว่าสองแสนคนอยู่ในสภาพทุกข์ทรมานแสนสาหัส มีเด็กเจ็บหนักเนื่องจากขาดอาหาร จำนวนคนมีกรรมหนาที่หลั่งไหลเข้ามามาก เกินความสามารถของทางจังหวัดที่จะรับผิดชอบ ช่วยเหลือได้ ฉันเป็นสภานายิกาของกาชาดจึงบินไปดูด้วยตนเอง พบว่าบริเวณเขาล้านไปจนจดชายทะเลแน่นขนัดไปด้วยชาวเขมรลี้ภัย

ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่ใหญ่ๆ เช่นนั้น ซึ่งมีลมทะเลพัดอยู่ตลอดเวลา กลิ่นอุจจาระและปัสสาวะจะคลุ้งตลบไปหมดถึงเพียงนี้ ภาพชาวเขมรบ้านแตกเมืองล่มที่เห็นอยู่ ต่อหน้านั้น เป็นภาพที่จะประทับอยู่ในความทรงจำของฉันไม่มีวันลืมเลือน พวกเขานอนอยู่บนพื้นดินแฉะๆ ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง แต่ละก้าวที่ฉันเดินตรวจตราดูสภาพผู้ลี้ภัย ยังต้องคอยระวังมิให้เหยียบไปบนคนที่ นั่งนอนระเกะระกะ และเสบียงอาหารที่เขาฉวยติดตัวมาด้วย คือปลาตัวเล็กๆ ที่วางผึ่งแดดอยู่คละไปกับกองอุจจาระ

พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ตลอดจนไถ้ใส่ข้าวสารที่เขาแบกสะพายมา พื้นดินบางที่ก็เป็นบ่อ เวลาฝนตก น้ำจะขังอยู่เป็นแอ่ง นั่นแหละคือน้ำที่เขาใช้ดื่มกิน สภาพของผู้คนที่สุดแสนจะน่าเวทนาเหล่านี้ เป็นภาพที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งฉันอยากให้ผู้ที่อยู่สุขสบายตามเมืองใหญ่ ๆ ได้เห็นสภาพของคนที่สิ้นชาติสิ้นแผ่นดินเช่นนี้เหลือเกิน”

เมื่อผู้ลี้ภัยสงครามต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงตัดสินพระราชหฤทัยพระองค์เอง ทรงนึกถึงมนุษยธรรมเป็นข้อสำคัญโดยมิทรงคำนึงถึงความปลอดภัยส่วนพระองค์ จึงมีรับสั่งให้จัดตั้งศูนย์สภากาชาดไทย เพื่อดำเนินการช่วยชาวเขมรอพยพได้ทันทีในวันนั้น เมื่อศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้านสร้างแล้วเสร็จ ธงชาติและธงกาชาดโบกสะบัดเคียงคู่บนยอดเสาที่ทำจากต้นสน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลาก่อนค่ำของวันที่ 26 พฤษภาคม 2522

พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท่านผู้หญิงประภาดา เกษมสันต์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระและคุณชวลี อมาตยกุล ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินมาจากหัวหินยังคงอยู่ปฏิบัติงานที่นั้นตามพระราชประสงค์ต่อไป อีกทั้งค่ำวันเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ซึ่งขณะนั้นเสด็จพระราชดำเนิน มาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่กรุงเทพฯ จัดสิ่งของพระราชทานส่งไปเพิ่มเติมที่จังหวัดตราด

อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงอำนวยการจัดของพระราชทานจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังไกลกังวล เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงหัวหิน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรับพระราชทานพระราชกระแสเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่จะต้องช่วยกันดูแลชาวเขมรเหล่านั้นต่อไป

กระทั่งสงครามในกัมพูชาสิ้นสุดลง ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ได้รับการพัฒนาสร้างอาคารถาวร สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงฝึกอบรม โรงเรียนและบ้านพัก ในปีพ.ศ. 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาสภากาชาดไทย มีพระราชดำริให้สภากาชาดไทยจัดทำโครงการพัฒนาศูนย์สภากาชาดไทยแห่งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทยทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริ ได้แก่  

พระราชการุณยธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ศูนย์ฝึกอบรมสำหรับอบรมและเข้าค่ายพักแรมของเยาวชน สวนไม้มงคลพระราชทาน ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษาในปีพ.ศ. 2542

ปลูกต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 76 จังหวัด รวม 972 ต้น ล้อมรูปแผนที่ประเทศไทยในพื้นที่ 16 ไร่เศษ และสวนสมุนไพรสมเด็จองค์อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวบรวมไม้และสมุนไพร จัดเป็น 20 กลุ่มโรคในพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการสำหรับเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป สถานที่พักผ่อนโดยใช้ประโยชน์สภาพภูมิประเทศพื้นที่ชายหาด ดัดแปลงอาคารเดิมเป็นห้องพัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ บนรากฐานของความยั่งยืน อีกทั้งพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่พระราชทานแก่ชาวเขมรจำนวนมากรอดชีวิต ยังส่งผลทางอ้อมให้พสกนิกรชาวไทยพลอยได้รับความสงบร่มเย็นตราบถึงปัจจุบัน

 

เรียบเรียงข้อมูลและภาพ : สภากาชาดไทย, ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน