“แรมโบ้“ กับ “จริยธรรมการเมือง” คำถามจากสังคม ถึง “ประยุทธ์”
มาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง กลายเป็นคำถามจากสังคม ที่ "ผู้นำประเทศ" ต้องตอบและแสดงท่าทีให้ชัดเจน ว่า จะเอาอย่างไร เมื่อผู้ใต้กำกับมีพฤติกรรมส่อผิดจริยธรรม ไม่ใช่แค่ปล่อยให้ "การลาออก" ตัดตอนปัญหาที่จะลามไปถึงเก้าอี้ผู้นำ เท่านั้น
แม้ “แรมโบ้ อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ จะแถลงลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงลาออกในทุกตำแหน่งที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา “หวยแพง" เพื่อแสดงความรับผิดชอบประเด็นคลิปสนทนา ที่เชื่อมโยงไปถึงการ "ขอเงิน” ในธุรกิจค้าหวยออนไลน์ และโควตาสลาก เพื่อไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง การเลือกตั้ง
ทว่าเรื่องคลิปเสียง ขอเงินหวย ไปเล่นการเมืองนั้น ดูแล้วจะเป็นเกมยาว และไม่จบลงง่ายๆ
เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ปราบโกง สภาผู้แทนราษฎร บรรจุเรื่องเข้าสู่วาระตรวจสอบหาข้อเท็จจริงแล้ว และพร้อมจะขยายประเด็น ผูกโยงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฐานะผู้บังคับบัญชาของ “แรมโบ้อีสาน”
ประเดิมสอบ นัดแรกในสัปดาห์หน้า 27 - 28 เมษายน โดยเชิญ เสกสกล อัตถาวงศ์ และ จุรีพร สินธุไพร ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คู่สนทนาในคลิปเสียง เข้าชี้แจง
โดย ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ.ปราบโกง เจ้าของเรื่องสอบคลิปแรมโบ้ - จุรีพร ยืนยันว่า ต้องตรวจสอบให้เสร็จสิ้นกระบวนความและความกระจ่างชัด แม้จะลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ไม่สามารถตัดตอนการตรวจสอบได้
เพราะคลิปเสียงที่เกิดขึ้น เกิดระหว่างที่ “เสกสกล” มีตำแหน่ง อีกทั้งมีการกล่าวถึงการใช้เงินเพื่อกิจกรรมทางการเมือง การเลือกตั้ง
ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องคลิปเสียง เกิดขึ้นตั้นแต่ต้นเดือนเมษายน แต่ “เสกสกล” ทิ้งเวลาครึ่งเดือน ก่อนจะลาออกทุกตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ฐานะผู้บังคับบัญชา “แรมโบ้ อีสาน” เพิกเฉยที่จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทั้งที่เรื่องนี้ "ควรเร่งทำ” ให้กระจ่าง ในข้อสงสัยที่คนทั่วเมืองตั้งคำถาม โดยเฉพาะการใช้เงินเพื่อกิจกรรมทางการเมือง
อย่างน้อยเพื่อแสดงออกถึง ภาวะผู้นำ ที่กำกับพฤติกรรมลูกน้องให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
"กมธ.ปราบโกง” จึงเชื่อว่าเรื่องนี้มี “ขบวนการ”
โดย “ประเดิมชัย” มองด้วยว่า กรณีที่ เสกสกล และ จุรีพร ยอมรับตั้งแต่แรกว่า เป็นเสียงสนทนาของทั้งคู่จริง “นายกฯ” ย่อมต้องแสดงภาวะผู้นำ สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ หรือตั้งกรรมการสอบ แต่กลับไม่ทำ
เช่นเดียวกับ “ธีรัจชัย พันธุมาศ" ส.ส.ก้าวไกล ฐานะกมธ.ปราบโกง ที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า อาจมีใครที่อยู่เบื้องหลัง หรือสนับสนุน และยิ่งนายกฯเพิกเฉย ทำให้สังคมตั้งคำถามกับผู้นำประเทศว่า เป็นผู้สั่งการหรือรู้เห็นด้วยหรือไม่
เนื่องจาก “พล.อ.ประยุทธ์” อดีตผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร ผู้ที่ออกแบบโครงสร้างให้กับ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ให้มีกลไกปราบทุจริตหลายระดับ ทั้ง การเข้าสู่อำนาจทางการเมือง การตรวจสอบและลงโทษเมื่อเข้าสู่อำนาจ ดังนั้นควรควรหนักแน่นในการทำตามกฎหมายสูงกว่าใคร
ที่สำคัญ “ประยุทธ์” ฐานะผู้รักษาการ ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2564 ควรดูแล กำกับลูกน้องของตัวเอง
โดยเฉพาะ ข้อ 5 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมือง ที่วางบรรทัดฐานให้ ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติ ใน
"(2)ไม่ใช้ หรือ ยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม”
รวมถึง “(3) ไม่เรียก รับ หรือ ยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นที่อาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่”
ดังนั้นเมื่อ “แรมโบ้ อีสาน” ระบุในเอกสารชี้แจงกับสื่อมวลชน เรื่องลาออก ตอนหนึ่งที่อ้างถึง “การสร้างบรรทัดฐานจริยธรรมทางการเมือง” เชื่อว่าประเด็นนี้ คงเป็นคำถามตัวโต ที่สังคมถามกลับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เช่นกันว่า จะมีบรรทัดฐานจัดการผู้ใต้บังคับบัญชา ที่มีพฤติกรรมส่อว่าผิดจริยธรรมอย่างไร
ในเมื่อขณะนี้ สังคมมองว่าการ ลาออกไม่ใช่คำตอบของปัญหา แต่แค่ตัดตอนไฟเผาศรัทธารัฐบาล และลามถึงภาวะผู้นำของ “นายกฯ” เท่านั้น.