ปชป.สิ้นมนต์ขลังพรรคเก่าแก่ ? ภาพลักษณ์เสื่อม-ขุนพลเกรดตก

ปชป.สิ้นมนต์ขลังพรรคเก่าแก่ ? ภาพลักษณ์เสื่อม-ขุนพลเกรดตก

วิกฤติครั้งนี้ “จุรินทร์-เฉลิมชัย-ขุนพล ปชป.” จะแก้เกม หยุดขาลง กอบกู้ภาพลักษณ์ สร้างคะแนนนิยมของพรรคให้คืนกลับมาได้อย่างไร โดยเฉพาะในห้วงนับถอยหลังปีสุดท้ายรัฐบาล ที่แบรนด์ประชาธิปัตย์ต้องเผชิญศึกหนักทั้ง 2 ขั้ว

ปม “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปรียบดั่งพายุทางการเมือง ถาโถมเข้าใส่พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย 

แม้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรค “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค รวมถึงแกนนำ ปชป.จะเรียงหน้า นั่งแถลงแสดงความเสียใจ พร้อมแก้ไขปัญหา และรับผิดชอบเยียวยาเหยื่อ แต่ถ้อยแถลงที่มาล่าช้า ก็แทบไร้ความหมาย เมื่อกระแสสังคมไปไกลมากแล้ว

อีกทั้ง การลาออกจาก 2 ตำแหน่งของ “จุรินทร์” ประกอบด้วย 1.ประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2.ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ เพื่อแสดงความรับผิดชอบอีกทาง แต่ก็ดูจะไร้ผล เพราะแทบไม่ปรากฎว่าจุรินทร์มีบทบาทขับเคลื่อนงานที่โดดเด่นชัดเจน

เรื่องราวที่เกิดขึ้น กลับฉุดให้ภาพลักษณ์พรรคที่มักเรียกตัวเองว่า “สถาบันทางการเมือง” เสื่อมถอยด้อยค่าตัวเองไปโดยปริยาย ขณะที่ทั้งคนนอก คนใน ยังวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า ปชป.ติดอยู่กับกรอบคิดเดิมที่พยายามปั้นคำพูดให้สวยหรู สวนทางกับพฤติกรรมที่แสดงออกมา และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่พรรคปชป.ก็ยังปรับตัวไม่ทัน จึงไม่แปลกที่ภาพบวกทางการเมือง ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นภาพลบอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดเรื่องฉาว

มิหนำซ้ำ ปรากฎการณ์ของพรรค ปชป.ภายใต้การนำของ “จุรินทร์-เฉลิมชัย” ได้มีอดีตแกนนำพรรค มากฝีมือหลายราย ทยอยเดินออกจากพรรค เพราะแนวทางการทำงาน วิสัยทัศน์ และทัศนคติ แตกต่างจากทีมผู้นำพรรคชุดปัจจุบัน

กุมอำนาจบริหารพรรคเบ็ดเสร็จ

เป็นที่รับรู้กันว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.ของ “จุรินทร์” มาจากการแก้ปัญหาการเมืองภายในพรรคเอง เมื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค เดิมพันด้วยการลาออกจากตำแหน่ง หากผลการเลือกตั้งปี 2562 ได้ ส.ส.ต่ำร้อยตามที่ประกาศเอาไว้

วิกฤติครั้งนั้น จึงเปิดทางให้ ส.ส.-สมาชิกพรรค ลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 

ทีม “อภิสิทธิ์” จากเดิมที่สนับสนุน “กรณ์ จาติกวณิช” ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ต้องเปลี่ยนเป้า มาเทคะแนนให้กับ “จุรินทร์” เพราะเช็คคะแนนแล้ว หากไม่โหวตให้ “จุรินทร์” อาจจะต้องพ่ายให้กับ “ทีม กปปส.” ที่ดัน “พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค” ขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิง

ดังนั้น การเข้ามาของ “จุรินทร์” จึงเกิดเครื่องหมายคำถามไม่น้อยว่า จะสามารถนำพา ปชป.กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้หรือไม่ เพราะบารมีของ “จุรินทร์” ภายในพรรค หากเทียบกันแล้ว มีน้อยกว่าผู้ท้าชิงคนอื่นด้วยซ้ำ

“จุรินทร์” จึงตกอยู่ในสภาพ ต้องพิสูจน์ตัวเองมากพอควรในการเป็นผู้นำคนใหม่ โดยถูกคาดหวังว่าหลังการแข่งขัน จะสร้างความสามัคคีกับทุกคนที่เข้าแข่งขัน และดึงเข้ามาร่วมกันช่วยสร้างพรรค ทว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่กลับไม่เลือกใช้บริการคู่แข่งตัวเองแม้แต่รายเดียว

ไม่แชร์โควตารัฐมนตรีกลุ่มอื่น

ที่สำคัญช่วงจัดตั้งรัฐบาล มีการคาดการณ์ว่า “จุรินทร์” อาจจะประนีประนอม มอบเก้าอี้รัฐมนตรีให้ “กรณ์-พีระพันธุ์” เพื่อรักษาสมดุลในพรรค แต่ทั้ง “กรณ์-พีระพันธุ์” กลับไม่มีชื่ออยู่ในโผ ครม.

กระทั่งต่อมา ทั้ง “กรณ์-พีระพันธุ์” ต้องทะยอยเก็บข้าวของออกจากพรรค รวมไปถึงบรรดา “แกนนำปชป.” รายอื่นๆ ที่อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ไม่อยู่ในสายของ “จุรินทร์-เฉลิมชัย” ก็ต้องขอลาจากพรรคไปด้วย

ยังไม่นับ “ทีมมาร์ค” อาทิ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เข้าสู่มุมอับ จนอาจต้องย้ายพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน

ทิ้ง“นิวเด็ม”-ไร้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน

ขณะที่อีกกลุ่มที่เสียของไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อได้ล่มสลายลงในยุค “จุรินทร์-เฉลิมชัย” นั่นคือ “กลุ่มนิวเด็ม” ที่ย่อมาจาก “นิวเดโมแครต” หรือ “ประชาธิปัตย์ใหม่” ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2561 เพื่อใช้ในภารกิจเก็บแต้ม “คนรุ่นใหม่” ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 โดย “กลุ่มนิวเด็ม” มีอายุเพียง 7 เดือนเท่านั้น

“กลุ่มนิวเด็ม” จำนวน 21 คน ขณะนั้น นำโดย ไอติม “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ หมอเอ้ก “คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์”  ปลื้ม “สุรบถ หลีกภัย”  พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ฯลฯ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคปชป.ที่ต้องการเข้ามามีบทบาททางการเมือง

ไอติม พริษฐ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม บอกในวันเปิดตัวกลุ่มว่า การปักหมุดก่อตั้งกลุ่ม หมายถึงการแสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ตลอดไป และเชื่อมั่นว่าในการก้าวเข้ามาทำงานของนิวเด็ม จะเป็น “สะพานที่เชื่อมคนรุ่นใหม่ทั้งในพรรคและข้างนอกพรรค”

ทว่า ในที่สุด การตัดสินใจเรื่องจุดยืนของพรรคหลังการเลือกตั้ง ด้วยการเลือกขั้ว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในการตั้งรัฐบาล ได้ส่งผลให้ “แกนนำนิวเด็ม” บางส่วนรับไม่ได้ ทะยอยลาออกจากกลุ่ม และมีบางส่วนที่ยังคาดหวังว่าหัวหน้า “จุรินทร์” จะมอบโอกาสการทำงานให้พิสูจน์แนวคิดคนรุ่นใหม่ แต่กลับไม่มีเสียงตอบรับจากผู้บริหารพรรค ทำให้ “กลุ่มนิวเด็ม” ต้องแยกย้ายกระจัดกระจายออกไปอยู่พรรคอื่น และยุบกลุ่มในที่สุด

ขุนพลเกรดตก-ไร้แม่เหล็กดูดแต้ม

ถึงเวลานี้ “จุรินทร์-เฉลิมชัย” คงปฏิเสธได้ยากว่า “ขุนพลปชป.” ที่หายไปจำนวนไม่น้อย และสลับเปลี่ยนหน้าไปเยอะ ทำให้คุณภาพ ปชป.เกรดตก ลงไปด้วย หลังจากแกนนำระดับแม่เหล็กทยอยเดินออกจากพรรค บางคนหันไปซบพรรคการเมืองอื่น บางคนหันไปตั้งพรรคใหม่ บางคนขอหยุดพักงานการเมือง ยิ่งทำให้ ปชป.อ่อนแรงลง

แม้พรรค ปชป.จะยินดีปรีดากับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. สงขลา-ชุมพร ครั้งล่าสุด แต่การหาเสียง กลับชู พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะชูหัวหน้า “จุรินทร์” สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวของผู้นำพรรคไม่ใช่จุดขายของ ปชป. ชัยชนะที่ได้มา จึงไม่สะท้อนความนิยมของพรรคปชป.แม้แต่น้อย

ตรงกันข้าม แม้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะแพ้การเลือกตั้งซ่อม สงขลา-ชุมพร เนื่องจากไม่ได้ใช้แบรนด์นายกฯ หาเสียง ดังนั้นคะแนนของคนใต้จึงอยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้อยู่ที่พรรคปชป.-จุรินทร์ เมื่อใดที่นายกฯประยุทธ์ เปิดตัวลงแข่ง เมื่อนั้นพรรคปชป.ย่อมมีโอกาสเสี่ยงสูงเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เวลานี้ “ขุนพลเศรษฐกิจ” ของพรรค ปชป.ก็แทบไม่เหลือใครให้เชิดหน้าชูตา จากที่หวังจะได้ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” บิดาของ “ปริญญ์” มาช่วยปั้นนโยบาย เพื่อเป็นจุดขาย แต่ปมคดีลูกชายที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด กลับเป็นการปิดประตู “ศุภชัย” ในการกู้กระแสพรรคไปอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ปมคดีฉาวของ “ปริญญ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และกำลังได้โชว์งาน ผอ.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และส.ก.กลับกลายเป็นประเด็นฉุดภาพลักษณ์ของพรรค ปชป.อย่างยับเยิน มิหนำซ้ำยังมีกรณีไลน์หลุดปมชู้สาวกันภายในพรรค ซ้ำเติมสถานการณ์

ยังไม่นับ ศึกซักฟอกที่กำลังจะมาถึง ปชป.อาจไม่พ้นถูกฝ่ายค้านขยี้แผลเก่า ปมทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ขององค์การคลังสินค้า ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ หัวหน้า “จุรินทร์” ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. และอีกหลายกรณี

ต้องจับตาว่า วิกฤติครั้งนี้ “จุรินทร์-เฉลิมชัย-ขุนพล ปชป.” จะแก้เกม หยุดขาลง กอบกู้ภาพลักษณ์ สร้างคะแนนนิยมของพรรคให้คืนกลับมาได้อย่างไร โดยเฉพาะในห้วงนับถอยหลังปีสุดท้ายรัฐบาล ที่แบรนด์ประชาธิปัตย์ต้องเผชิญศึกหนักทั้ง 2 ขั้ว