“สุวัจน์” ชี้ 7 นโยบาย “ทางออกประเทศหลังการเลือกตั้ง” เพื่อกู้วิกฤตประเทศ
“สุวัจน์” ชี้ 7 นโยบาย “ทางออกประเทศหลังการเลือกตั้ง” เพื่อกู้วิกฤตประเทศ ย้ำการเมืองต้องลดความขัดแย้ง เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไปให้ได้
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานพรรคชาติพัฒนา บรรยายพิเศษในการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2565 พรรคชาติพัฒนา ( 23 เมษายน 65) เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทย ในหัวข้อ “ทางออกของประเทศภายหลังการเลือกตั้ง” ว่าโดยภาพรวมขณะนี้บ้านเมืองมีวิกฤต ครั้งใหญ่จากปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง อันเนื่องมาจากสงครามระหว่าง รัสเซียกับยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อของโลก สงครามการค้าของมหาอำนาจ ทำให้เกิดปัญหา GDP ของไทยไม่เติบโตตามเป้า ปัญหาเงินเฟ้อตามมา ปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงขึ้นมาก รายได้จากภาษีเก็บได้ไม่ตามเป้า เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้ต้องขาดดุลงบประมาณ
ขณะเดียวกับที่เราก็ต้องใช้เงินมาแก้ไขปัญหาโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าได้กู้มาแล้ว 2.4 ล้านล้านบาท ก็อาจยังไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว SME ต่างๆ ผู้ประกอบการร้านค้า เศรษฐกิจรากหญ้า เกษตรกร ล้วนได้รับผลกระทบที่รอการแก้ไข ขณะเดียวกันปีนี้ก็เป็นปีสุดท้ายหรือปีที่ 4 ของสภาฯ คาดว่าคงมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปไม่เกิน 1 ปีจากนี้ พี่น้องประชาชนจึงฝากความหวังไว้กับการ เลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมาก ว่าใครจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติต่อไปและนโยบายหรือ แนวทางอะไรบ้างที่จะทำให้เศรษฐกิจและบ้านเมืองกลับมาเหมือนเดิมอีก
นายสุวัจน์ ได้ชี้ทางออกของประเทศไทย หลังเลือกตั้ง ต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไว้รวม 7 เรื่อง
1.ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องและดูแลผลกระทบจากโควิด (Post Covid) คือ เตรียมความพร้อมด้านวัคซีน ยารักษาโรค แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยและผู้หายป่วยอย่างใกล้ชิด ไทยควรจะผลิตวัคซีนที่เป็นของเราเองให้เพียงพอและทันเหตุการณ์กับโควิดและโรคระบาดใหม่ๆ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ GDP กลับมาอยู่ในระดับ 4–5% เป็นอย่างน้อย อาจจะต้องจัดเตรียมเงินให้เพียงพออีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ แต่ควรเน้นการกระตุ้นให้มากกว่าการบรรเทาใช้จ่ายเงินให้ตรงเป้าหมาย เอาเงินไปสร้างงานให้เกิด เหมือนให้เบ็ดไปตกปลา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทุกคนมีงานทำทั้งระบบ และต้องไม่กระทบเสถียรภาพการคลังของประเทศ
2.ใช้เทคโนโลยีมาสร้างความทันสมัยให้กับประเทศ ที่ผ่านมาขีดความสามารถด้านการแข่งขันลดลงและ GDP เราเติบโตน้อย เพราะเรายังใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกับการพัฒนาประเทศไม่ทันเพื่อนบ้าน ขณะนี้เทคโนโลยีดิจิทัลหล่อ หลอมรวมกับเทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในโลกธุรกิจและชีวิตของมนุษย์ เช่น AI ,หุ่นยนต์ ,รถยนต์ไฟฟ้า ,Blockchain ,สกุลเงินดิจิทัล , เศรษฐกิจดิจิทัล ,ระบบอุตสาหกรรมใหม่ ,เศรษฐกิจใหม่ BCG
วันนี้นอกจากต้องมีธรรมภิบาลใน การบริหารงานภาครัฐแล้ว ต้องเป็น Open Governance ด้วยคือ Open Data ,Open Process ,Open Governance ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาปรับพื้นฐานในการบริหารและพัฒนาประเทศอย่างจริงๆ เราถึงจะสู้กับประเทศอื่นๆ ได้ในทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ฉะนั้น ควรวางระบบการศึกษาให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ต้อง Reskill บุคลากรภาครัฐและเอกชนให้ทันเทคโนโลยี จัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา ส่งเสริมให้มี Start Up และมาตรการภาษีในการน้าเข้า เทคโนโลยีมาใช้งาน
3. สร้าง Plat Form ใหม่ของระบบเศรษฐกิจบนจุดแข็งของไทย คือ เกษตร - อาหาร ,ท่องเที่ยว – Soft Power และภูมิศาสตร์ เหมือนแข่งฟุตบอลในบ้านไม่ค่อยแพ้ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ให้พัฒนาภาคการเกษตรเป็นหลัก และไทยเราเป็นผู้ผลิตใหญ่ของโลกคือข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าวโพด ทำให้เป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมสำหรับการส่งออก แทนที่การส่งออกในรูปแบบสินค้าเกษตรอย่างเดียว เพราะมีมูลค่าเพิ่มมาก และสร้าง SMEs ห่วงโซ่การผลิตเพิ่ม สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ทำแผนงานให้ชัดเจนต้องเสร็จในกี่ปีสำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิดใช้ ระบบ Smart Farmer เพื่อเพิ่มผลผลิต เรื่องท่องเที่ยว – Soft Power เป็นวัฒนธรรมของชาติ ความสวยงาม ธรรมชาติ อาหารการกินต่าง ๆ เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว ต้องเน้นระยะเวลาในการพานักของนักท่องเที่ยวให้อยู่นานขึ้นจากปกติเฉลี่ย 10 วัน ให้ใช้จ่ายมากจากปกติเพียง 5,000 บาท จะทำให้เพิ่มรายได้มหาศาล สร้างเมืองให้ไทยเป็น High End Destination จับนักท่องระดับสูง สร้างเมืองไทยเป็น Regional Wellness Hub ของโลก สร้างการท่องเที่ยว แบบดำเนินชีวิตวิถีพุทธ สร้างเมืองไทยเป็นสุดยอดอาหารโลก Streetfood ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเที่ยวมากิน ต้องรีบปรับปรุง Infrastructure ด้านการท่องเที่ยวและสร้างความปลอดภัย บ้านเรา อุดมสมบูรณ์ด้วยวัฒนธรรม อาหาร การแสดงที่เป็น Soft Power อยู่แล้ว
ควรจัดตั้งกองทุน Soft Power เพื่อสร้างศิลปิน ดนตรี ภาพยนตร์ อาหาร กีฬาต่างๆ ให้โลกรู้จัก จะได้ประชาสัมพันธ์ประเทศจะเป็นประโยชน์ ด้านการท่องเที่ยว การลงทุน เพื่อให้เมืองไทยเป็น Soft Power Hub เป็นศูนย์กลางการจัด Event ใหญ่ๆ ด้วยวัฒนธรรม ดนตรี กีฬา จะได้ประชาสัมพันธ์ดึงดูด นักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้าประเทศใช้ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์กับข้อตกลงการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง
และเกิดขึ้นมากล้อมตัวเราอยู่ เช่นใช้อีสานเป็นระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์โลกเอเชียแปซิฟิกและเส้นทางสายไหม (BRI) ของจีน APEC และ CPTPP ขยายรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ – โคราช ข้ามน้ำโขงผ่านมาเชื่อมจีน รวมตัวของ Motor Way กรุงเทพ - โคราช สู่เพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง อีสานก็จะเป็นภูมิภาคอินเตอร์ทำให้เกิดการค้า การลงทุน โลจิสติกและการท่องเที่ยว โคราชก็จะเป็นมหานคร (Metropolis) ของภูมิภาคนี้
4.ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำจากการประสบความสำร็จในการช่วยกันแก้ไขปัญหาโควิด เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ทำให้เกิดพลังของท้องถิ่น ในการร่วมมือกันจัดหาวัคซีน รับส่งผู้ป่วย ตรวจ ATK จัดหาอาหารช่วยเหลือกันยามยาก ควรเน้นย้ำให้เกิดการกระจายอำนาจ ให้มากขึ้น แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้เกิดความเป็นอิสระในการทำงาน เพิ่มรายได้ท้องถิ่น ให้ครบ 35 % ของรายได้ภาครัฐ ส่งเสริมการจัดตั้งให้เป็นเมืองพิเศษตามด้วยศักยภาพของเมือง เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับเศรษฐกิจประเทศ เช่น เมืองพิเศษด้านท่องเที่ยว การค้าชายแดน เป็นต้น
5.ผู้สูงอายุ คือ กำลังของประเทศ ขณะนี้มีผู้สูงอายุ (60 ปี) ประมาณ 12 ล้านคน แต่อีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน ขณะเดียวกันคนในวัยทำงาน(15-59 ปี) ขณะนี้มี 43 ล้านคนอีก 20 ปีจะเหลือ 36 ล้านคน แสดงว่าคนวัยทำงานจะน้อยลง คนสูงอายุจะมากขึ้น กำลังการผลิตของไทยจะน้อยลง เศรษฐกิจจะถดถอย และต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ผู้สูงอายุวันนี้มีสุขภาพแข็งแรง ระบบการแพทย์สาธารณสุขต่างๆ การออกกำลังกาย ควรเพิ่มอายุเป็น 65 ปี สำหรับเกณฑ์ ผู้สูงอายุและควรขยายการเกษียณอายุเป็น 65 ปี เหมือนบางประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุผู้มาก ประสบการณ์เป็นกำลังที่สำคัญของบ้านเมืองได้ และจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุที่ผู้สูงอายุและรัฐจ่ายเงินเข้ากองทุนร่วมกัน เพื่อเป็นสวัสดิการ และความมั่นคงในระยะยาว
6.เตรียมพร้อมรองรับปัญหาโลกร้อน (Global Climate Change) ต่อไปจะเห็นการกีดกันทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสหภาพยุโรปเตรียมใช้ มาตรการนี้ เรื่องภาษีนำเข้าถ้าผลิตสินค้าก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เราต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อรักษาการส่งออก และรถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่รถยนต์น้ำมัน ไทยเคยเป็น Detroit ของเอเชียผลิตรถยนต์ปีละกว่า 3 ล้านคัน จะทำยังไงกับ SME ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำมัน เพราะในอนาคตเมื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้าชิ้นส่วนเครื่องยนต์จะน้อยลง ต้องรีบปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิต เพื่อลดผลกระทบการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซก่อให้เกิดผลกระทบเรื่องโลกร้อน และราคาแพงเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทน
เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ควรส่งเสริมการลงทุนและผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีระยะเวลาคืนทุน 3-4 ปี ควรส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์หรือหมู่บ้านและชุมชนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และที่เหลือก็ส่งเข้าระบบของการไฟฟ้าไปขายต่อ ขณะเดียวกันภาวะโลกร้อนจะก่อให้เกิดปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ภัยธรรมชาติ ควรมีแผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างจริงจัง ไม่ให้กระทบภาคการเกษตรและประชากรในพื้นที่น้ำท่วมต่าง ๆ
7. การเมืองทางออกสุดท้ายของประเทศ ต้องมีเสถียรภาพ คุณภาพ เสียสละ ลดความขัดแย้ง ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบจากเสถียรภาพการเมือง เสถียรภาพรัฐบาล ทำให้กลไกของสภาและการเมืองไม่เข้มแข็ง ทำให้การทำงานและการแก้ไขปัญหาประเทศลำบาก ประชาชนฝากความหวังกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ กับการเมืองหลังการเลือกตั้งมาก ๆ
ฉะนั้น เลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองต้องช่วยกันเสริมสร้างให้มีเสถียรภาพทางการเมืองเกิดขึ้น ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่ประชาชนตัดสินมาแล้ว จัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะทำงานให้ลุล่วง การเมืองต้องมีคุณภาพทั้งด้านนโยบายและบุคลากร ต้องช่วยกันคิดนโยบายดี ๆที่มาแก้ไขปัญหาประเทศและเตรียมนักการเมืองคุณภาพเข้ามาช่วยกันท้างาน การเมืองต้อง พร้อมที่จะเสียสละ ช่วยกันลดความขัดแย้ง เพื่อให้เป็นทางออกการเมืองไม่ถึงทางตัน เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไปให้ได้
นายสุวัจน์ กล่าวว่าพรรคชาติพัฒนามีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยกันทำงานในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้พี่น้องประชาชน จากประสบการณ์และบุคลากรของพรรคที่เคยทำมาแล้ว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีต ส.ส.โคราชเป็นนายกรัฐมนตรี “เศรษฐกิจยุคทอง แปรสนามรบเป็นสนามการค้า โคราชประตูสู่อีสาน อีสานประตูสู่อินโดจีน” เราพร้อมที่จะทำงานและเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เราเคยทำมาแล้ว เราจะทำต่อไปเพื่อพี่น้องประชาชนชาวไทย ขอให้ไว้วางใจพรรคชาติพัฒนา
“พรรคชาติพัฒนา เกิดที่โคราช ถึงมีคำว่าโคราชชาติพัฒนา มีคำว่าตนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน เกิดที่โคราชก็ต้องตายที่โคราช พรรคชาติพัฒนาขอยึดเอาโคราชไว้เป็นเรือนตาย ขอ Come back อีกครั้งเพื่อรับใช้ชาวโคราช” ประธานพรรค กล่าว