ผ่า“องคาพยพส้ม”ปรับทัพใหญ่ เจาะ“ชุมชน” ดูดเสียงพลังเงียบ
การปรับยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลในวันที่ 30 เม.ย. 2565 เป็นไปได้ว่าจะเพิ่มการลงพื้นที่ใน “ชุมชน” ให้มากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นจุดอ่อนของพรรคนับตั้งแต่ปี 2562 เพราะคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้เสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้นจึง “ไม่อิน” กับกระแส “พ่อของฟ้า”
ในช่วงปลายเดือน เม.ย.2565 ที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองจัดการประชุมใหญ่พรรค ปรับโครงสร้างกรรมการบริหาร เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึก “เลือกตั้งใหญ่” ที่คาดว่ากำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้ อย่างช้าที่สุดคือช่วงต้นปี 2566 หรืออีกราว 8 เดือนเศษ
คราวนี้ถึงคิวของ “พรรคก้าวไกล” นัดประชุมใหญ่ประจำปี 2565 ในวันที่ 30 เม.ย. 2565 โดย “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรค ระบุว่า ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ จะใช้โอกาสนี้ปรับทัพเพื่อรับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคก้าวไกล” มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” โดยการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมาจนถึงการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” และการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ที่กำลังจะถึงนี้ คะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจากกระแส “พ่อของฟ้า” แทบทั้งสิ้น
แหล่งข่าวจาก “พรรคก้าวไกล” ยืนยันว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 จนมาถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เมื่อปลายปี 2564 และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมาถึงในเดือน พ.ค.2565 คะแนนเสียงเกือบทั้งหมดได้มาจาก “บ้านมีรั้ว” และ “คอนโดมิเนียม” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งติดตามข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
กระแสของ “ธนาธร” เมื่อปี 2562 ไม่ธรรมดา หอบหิ้วบรรดา ส.ส.เข้าสภา 81 ที่นั่ง โดยเฉพาะ กทม. กวาดไปถึง 9 ที่นั่ง เทียบเท่า “พรรคเพื่อไทย” แต่ได้คะแนน “ป็อปปูลาร์โหวต” เยอะกว่า
ดังนั้นการปรับยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลในวันที่ 30 เม.ย. 2565 เป็นไปได้ว่าจะเพิ่มการลงพื้นที่ใน “ชุมชน” ให้มากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นจุดอ่อนของพรรคนับตั้งแต่ปี 2562 เพราะคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้เสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้นจึง “ไม่อิน” กับกระแส “พ่อของฟ้า” เหมือน “คนรุ่นใหม่”
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเจาะตลาด ”วัยกลางคน" ซึ่งเป็นวัยทำงาน ระหว่างอายุ 25-40 ปี จากเดิมที่เน้นแค่ “นิวโหวตเตอร์” เป็นหลัก เพราะปฏิเสธได้ยากว่า “วัยกลางคน” เหล่านี้มีจำนวนประชากรมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็น “พลังเงียบ” มักตัดสินใจใน “นาทีสุดท้าย” โดยวัดจากนโยบายของพรรคการเมืองเป็นหลัก
นอกจากนี้ บรรดาผู้สมัครต่าง ๆ อาจต้องยึดโยงกับพื้นที่พอตัว มิใช่นำ “โนเนม” มาลงสมัครเหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ที่อาศัยกระแส “พ่อของฟ้า” พาเข้าสภา จนสุดท้ายเกิดกรณี “งูเห่า” ภาค 2-3 เต็มไปหมด กระทั่ง “พรรคก้าวไกล” ที่แปลงกายมาจาก “พรรคอนาคตใหม่” เหลือ ส.ส.ในสภา เพียง 51 ที่นั่ง ยังไม่นับบรรดา “งูเห่าฝากเลี้ยง” อีกหลายคน ที่ไม่นั่งเก้าอี้ “สีส้ม” แต่ขยับไปนั่งเก้าอี้ “สีน้ำเงิน” แทน
กระแส “พ่อของฟ้า” ปี 2562 กับปี 2565 แตกต่างกันอย่างมาก เพราะ 3 ปีให้หลัง ตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ใต้ปีกของ “ธนาธร” มีคดีติดตัวเต็มไปหมด
ไล่เรียงมาตั้งแต่คดีถูกกล่าวหา น.ส.3 ก. 2,111 ไร่ บุกรุกเขตป่าไม้ถาวร คดีซุกหุ้นสื่อที่รออัยการสูงสุด (อสส.) ชี้ขาด คดีไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน” ที่โดนข้อหาหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดี “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” น้องชาย ถูกกล่าวหาว่าให้เงินสินบน 20 ล้านบาทแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อประมูลที่ดินแปลงงามใจกลางเมือง เป็นต้น
ชนักปักหลังเหล่านี้ ส่งผลต่อคะแนนความนิยมของ “ธนาธร” ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของ “องคาพยพสีส้ม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่สำคัญพรรคซึ่งเป็นทั้งพันธมิตร และคู่แข่งสำคัญอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ปรับทัพใหม่นำ “ตระกูลชินวัตรรุ่น 3” อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร มานำทัพ ส่งสัญญาณว่า “นายใหญ่” เอาจริง
จึงไม่แปลก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ (25 เม.ย. 2565) องคาพยพค่ายสีส้ม ทั้ง “พรรคก้าวไกล” ที่ทำงานในสภา “คณะก้าวหน้า” ลุยการเมืองท้องถิ่น รวมถึง “กลุ่มเส้นด้าย” และ “ทีมวิโรจน์” ปักหลักฐานที่มั่นใน กทม. ต่างขมักเขม้น ลงพื้นที่กันอย่างแข็งขัน
ไล่เรียงมาตั้งแต่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กำลังลงพื้นที่เช็คฐานเสียงในจังหวัดภาคใต้หลายแห่ง ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี “เมืองหลวง กปปส.” ก่อนลุย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ 3 พรรคดังอย่าง พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย
พร้อมประกาศกร้าวด้วยความมั่นใจว่า เลือกตั้งหนหน้า “ก้าวไกล” ได้ “ปักธง” พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ “พรรคก้าวไกล” ลงพื้นที่ “ภาคอีสาน” เจาะใจกลาง “เมืองหลวงเสื้อแดง” อย่าง จ.อุดรธานี มาแล้ว โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก แสดงความมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.ในพื้นที่เช่นกัน
ในช่วงเวลาเดียวกัน “คณะก้าวหน้า” ฐานที่มั่น “การเมืองท้องถิ่น” สีส้ม นำโดย “ธนาธร” พร้อมด้วยบรรดา “คีย์แมนสำคัญ” ทั้ง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ “พรรณิการ์ วานิช” โฆษกคณะก้าวหน้า แยกย้ายกันลงพื้นที่ เลคเชอร์บรรดา “ผู้บริหารท้องถิ่น” และอดีตผู้สมัครท้องถิ่นทั้งหลาย เพื่อดำเนินนโยบายของคณะก้าวหน้าอย่างเคร่งครัด รวมถึงลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บคะแนนเสียงสู้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งหน้า
ส่วน “กลุ่มเส้นด้าย” ที่มี “เฮียเล้า” พีรพล กนกวลัย ผู้สมัคร ส.ก. ที่ปัจจุบันถูก กกต.เพิกถอนสิทธิลงสมัคร เนื่องจากเคยเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ และ “คริส โปตระนันทน์” อดีตผู้สมัคร ส.ก.กทม. พรรคอนาคตใหม่ มีการลงพื้นที่อย่างแข็งขันเช่นกัน แบ่งเป็น 2 ชุดในนาม “บริษัท เซ็นด้ายเพื่อสังคม จำกัด” และ “มูลนิธิเส้นด้าย” คอยประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ก.ของ “พรรคก้าวไกล” และ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคหาเสียง
ขณะที่ “บริษัท สมจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด” ธุรกิจหลักของ “องคาพยพสีส้ม” ที่ “ธนาธร” ถือหุ้นใหญ่สุดเกือบ 100% เริ่มประสานงานกับ “พรรคก้าวไกล” ในการจัดกิจกรรมต่าง เพื่อ “เรียกแขก” ระดมมวลชน สร้างฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่เพิ่มเติมแล้วเช่นกัน เช่น กิจกรรมล่าสุดประกวดเบียร์ชิงแชมป์ประเทศไทย หรือ B.A.D Beer Contest เป็นต้น
การปรับยุทธศาสตร์เตรียมพร้อมสู้ศึกการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ของ “พรรคก้าวไกล” จึงมิใช่แค่ปรับทัพเฉพาะพรรคอย่างเดียว แต่เป็นการปรับโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับ “องคาพยพสีส้ม” ทั้ง “คณะก้าวหน้า” และ “กลุ่มเส้นดาย-ทีมวิโรจน์” ด้วยเช่นกัน โดยพุ่งเป้าไปที่ “ชุมชนแออัด” และ “พลังเงียบ” เป็นหลัก
ส่วนจะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมแค่ไหน ต้องวัดกันในสนามเลือกตั้ง