ก่อน "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." 2565 ต้องรู้ ส.ก. คือใคร? เลือกวันเดียวกันไหม?
นับถอยหลัง 4 วันสู่การ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ผู้มีสิทธิ์นอกจากการไปเลือกผู้ว่าฯ กทม. แล้ว ก็จะต้องเลือก ส.ก. ในวันเดียวกันด้วย ชวนรู้จักตำแหน่ง ส.ก. ให้มากขึ้น พร้อมวิธีลงคะแนนเสียง
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับการ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 หรืออีก 4 วันข้างหน้า ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในรอบ 9 ปีของชาวกรุงเทพฯ และอีกหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ส.ก. หรือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะเปิดหีบให้เลือกตั้งในวันเดียวกัน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักตำแหน่ง ส.ก. ให้มากขึ้น พร้อมแนะนำให้รู้วิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของทั้ง "ผู้ว่าฯ กทม." และ "ส.ก." ต้องเลือกอย่างไร? ใช้บัตรเลือกตั้งอะไรบ้าง? ชวนไขคำตอบดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. ส.ก. คือใคร? ทำหน้าที่อะไร?
ส.ก. ย่อมาจาก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่คล้าย ส.ส.ในระบบรัฐสภา แต่ ส.ก.จะมีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของ "สภาท้องถิ่น" หรือ "สภา กทม." มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบและดูแลการบริหารราชการ กทม.ของฝ่ายบริหาร ที่มี "ผู้ว่าฯ กทม." เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรี มีหัวหน้าฝ่ายบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2. "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ครั้งนี้ ต้องเลือก ส.ก. ด้วย
ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ชาวกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องออกไปใช้สิทธิ์ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." และเลือก "สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)" ไปพร้อมกัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
สำหรับ การเลือกตั้ง ส.ก. วันที่ 22 พ.ค. 2565 เป็นการเลือกตั้งทั่วกรุงเทพฯ ครั้งแรกในรอบ 12 ปี ภายหลังจัดเลือกตั้งครั้งล่าสุดวันที่ 29 ส.ค.2553 การเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการปัดฝุ่นการทำหน้าที่ ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้งในฐานะผู้แทนท้องถิ่นให้คนกรุงเทพฯ
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัคร ส.ก. ทั้งสิ้น 381 คน แบ่งเป็น 50 เขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งละ 1 คน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก.มากที่สุดประกอบด้วย เขตดุสิต และเขตสวนหลวง จำนวน 10 คน
ส่วนสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. น้อยที่สุด (จำนวน 6 คน) มี 8 เขต ประกอบด้วย เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว
3. วิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และ "บัตรเลือกตั้ง"
สำหรับในการเลือกตั้งครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดสีบัตรลงคะแนน ได้แก่ บัตรลงคะแนนเสียง ผู้ว่าฯกทม. คือ "สีน้ำตาล" และ บัตรลงคะแนนของ ส.ก. คือ "สีชมพู"
ส่วนขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ให้ประชาชนชาว กทม. ทำตามขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจ ATK ก่อนเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 2 : สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด
ขั้นตอนที่ 3 : เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 4 : ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่ของตนเอง จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อย สามารถตรวจสอบได้ 2 วิธี
- ตรวจสอบบัญชีรายชื่อหน้าสถานที่เลือกตั้ง หรือตรวจสอบผ่านหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- ตรวจสอบรายชื่อผ่านแอปฯ สมาร์ทโหวต (SMART VOTE) หรือ คลิกที่นี่
ขั้นตอนที่ 5 : แสดงตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
ขั้นตอนที่ 6 : ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ และรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ
ขั้นตอนที่ 7 : รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และรับบัตรประชาชนคืนจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 8 : เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องให้เต็มช่อง โดยทำเครื่องหมาย ดังนี้
- บัตรสีน้ำตาล เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สามารถเลือกผู้สมัครได้ 1 คน เท่านั้น
- บัตรสีชมพู เลือกตั้ง ส.ก. สามารถเลือกผู้สมัครได้เขตละ 1 คน ในเขตของตนเท่านั้น
- หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใด ให้กากบาทที่ช่อง "ไม่ประสงค์ลงคะแนน" แล้วพับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 9 : หย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบด้วยตนเอง โดยจะต้องสังเกตหีบบัตร และหย่อนให้ถูกประเภทด้วย