ศึกชิง ส.ก."ค่ายแดง-ค่ายส้ม" “ก้าวไกล”แรง-"เพื่อไทย"วูบ
เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องได้เก้าอี้ ส.ก. 18-20 ที่นั่ง แต่ไม่เทหมดหน้าตัก ทำให้กระแสผู้สมัคร ส.ก.ก้าวไกล ตีตื้นขึ้นมาไม่น้อย อีกทั้งกระแสของ “ชัชชาติ” ก็ไม่ได้ถูกแบ่งคะแนนมาให้ ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยแม้แต่น้อย
ศึกชิงเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในขั้วที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งต้องแย่งคะแนนกันเอง ระหว่าง ผู้สมัคร ส.ก.ค่ายเพื่อไทย กับผู้สมัคร ส.ก.ค่ายก้าวไกล โดยผลโพลล์ภายในของทั้งสองพรรค แต้มผู้สมัครในหลายเขต คู่คี่สูสีกันอย่างมาก
ผู้สมัคร ส.ก.ก้าวไกล มั่นใจว่าได้เปรียบ เพราะโหนกระแส “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคตัวเองได้ และยิ่งเรตติ้งของ “วิโรจน์” ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากเดินสายโชว์วิสัยทัศน์บนเวทีดีเบตอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้กระแสของพรรคก้าวไกลขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต่างจากผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย ที่รู้สึกเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีกระแสของผู้สมัคร “ผู้ว่าฯกทม.” ของตัวเอง มาช่วยดึงแต้ม เนื่องจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ ประกาศจุดยืน แยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน แม้ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยบางราย จะตีเนียนด้วยการเลียนแบบสีเสื้อ-สีป้ายหาเสียงให้เหมือน “ทีมชัชชาติ” แต่คะแนนก็ไม่กระเตื้อง
อีกทั้ง ผลโพลล์ ระยะหลัง ยังพบว่า “กลุ่มนิวโหวตเตอร์-กลุ่มคนรุ่นใหม่” แม้จะเลือก “ชัชชาติ” มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ไม่ได้เลือกผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย กลับเทคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ก.ก้าวไกลแทน จึงทำให้คะแนนจากโพลล์ในระยะหลังจึงคู่คี่สูสี
ส่งผลให้ “ทีมยุทธศาสตร์” พรรคเพื่อไทย ต้องแก้เกมด้วยการดึง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลงพื้นที่ มาช่วยปั่นกระแสให้ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย หวังเก็บแต้มจาก “นิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่” กระแสจึงดีดตัวขึ้นมาบ้าง
ทำให้ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยในหลายเขต เรียกร้องไปยังพรรคให้จัดคิว “อุ๊งอิ๊ง” มาช่วยหาเสียงในพื้นที่ที่คะแนนตามคู่แข่ง แต่ “ทีมยุทธศาสตร์” เพื่อไทย กลับเล่นเกมเพลย์เซฟ ไม่เอาชื่อนายหญิงคนใหม่ไปเสี่ยงในพื้นที่ที่มีโอกาสแพ้เลือกตั้ง
ดังนั้น จึงจะเห็น “อุ๊งอิ๊ง” ลงพื้นที่ที่มีโอกาสชนะสูงเท่านั้น โดยโฟกัสไปช่วยผู้สมัคร ส.ก.โซนรอบนอก อาทิ “ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ” ผู้สมัคร ส.ก.เขตคันนายาว เบอร์ 5 ภรรยา “พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ” ส.ส.พรรคเพื่อไทย “เอนก ตุ้มน้อย” ผู้สมัคร ส.ก. ตลิ่งชัน เบอร์ 6 “พรพิมล สูญญาจารย์” ผู้สมัคร ส.ก. ทวีวัฒนา เบอร์ 4 “เอกชัย ผ่องจิตร์” ผู้สมัคร ส.ก. บางแค เบอร์ 2 เป็นต้น
เหตุที่ “ทีมยุทธศาสตร์” พรรคเพื่อไทย เลือกเล่นเกมเพลย์เซฟ ไม่ให้ “อุ๊งอิ๊ง” ลงพื้นที่เสี่ยง เพราะหากเพลี่ยงพล้ำอาจถูกหยิบยกมาโจมตีกล่องดวงใจในสนามใหญ่ได้
เมื่อเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องได้เก้าอี้ ส.ก. 18-20 ที่นั่ง แต่ไม่เทหมดหน้าตัก ทำให้กระแสผู้สมัคร ส.ก.ก้าวไกล ตีตื้นขึ้นมาไม่น้อย อีกทั้งกระแสของ “ชัชชาติ” ก็ไม่ได้ถูกแบ่งคะแนนมาให้ ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยแม้แต่น้อย
สำหรับเป้าหมายของ “ค่ายสีส้ม” ที่ต้องการปักธงในสภากทม.หวังชิง ส.ก.มาให้ได้อย่างน้อยเกินครึ่งสภาฯ หรือไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง โดยโพลภายในครั้งสุดท้ายของพรรคก้าวไกลพบว่า ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรค มีคะแนนนำอยู่กว่า 12 และสูสีกับผู้สมัครของพรรคอื่นอีกราว 20 เขต
แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ “ก้าวไกล” ยังคงขายภาพลักษณ์ความเป็นพรรค “อนาคตใหม่” โดยนำ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า “พรรณิการ์ วานิช” โฆษกคณะก้าวหน้า มาร่วมเวทีปราศรัยใหญ่ หวังดึงแฟนคลับ “คนรุ่นใหม่” ในช่วงโค้งสุดท้าย ให้ออกมาโหวต
จากการประเมินของแกนนำ เชื่อว่า คะแนน “ป็อปปูลาร์โหวต” ของพรรคก้าวไกลรอบนี้ น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 8 แสนเสียง หากเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ของ “พรรคอนาคตใหม่” ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลอาจลืมไปว่า ฐานเสียงหลักของคน กทม.ที่เลือก“อนาคตใหม่” เมื่อปี 2562 นั้น “บางส่วน”ถูกเทคะแนนมาจากการยุบ“พรรคไทยรักษาชาติ”ด้วย
ปี 2562 ไทยรักษาชาติ หรือ ทษช.ส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม. รวม 8 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 2, 3, 4, 20, 21, 22, 24 และ 25 โดยทั้ง 8 เขตนี้ “พรรคเพื่อไทย”เว้นวรรคให้ โดยไม่ส่งผู้สมัคร
เมื่อ ทษช.ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ด้วยปรากฎการณ์ “8 ก.พ.2562” พบว่า ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น ที่ลงเลือกตั้งใน 8 เขตเดียวกับ ทษช. คว้าชัยชนะไปถึง 5 เขต รวมเสียง 175,263 คะแนน
ได้แก่ “วรรณวรี ตะล่อมสิน” ชนะเลือกตั้งเขต 3 (28,444 คะแนน) “สมเกียรติ ถนอมสินธุ์” ชนะเลือกตั้งเขต 21 (35,702 คะแนน) “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ชนะเลือกตั้งเขต 22 (34,368 คะแนน) “ทศพร ทองศิริ” ชนะเลือกตั้งเขต 24 (38,409 คะแนน) และ “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” รองเลขาฯพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งเขต 25 (38,340 คะแนน)
เพราะฉะนั้นคะแนนเสียงจาก ทษช.บางส่วน หรือส่วนมาก อาจปนมาในตัวเลข 1.75 แสนคะแนน ที่พรรคอนาคตใหม่ชนะใน 5 เขตเลือกตั้งข้างต้นด้วย
หากนำเสียง 175,263 คะแนน ไปลบกับคะแนน “ป็อปปูลาร์โหวต” ของพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ ส.ส.กทม. 9 ที่นั่ง คือ 804,272 คะแนน (จากผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 3,102,280 ราย) เท่ากับว่า พรรคอนาคตใหม่อาจได้คะแนนราว 6.2 แสนคะแนนเศษเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ ณ เวลานี้ฐานเสียงกว่า 1.75 แสนคะแนนดังกล่าว ปัจจุบันจะยังคงเลือก “ก้าวไกล”หรือว่าเลือกใครคนอื่นหรือไม่
อีกปัจจัยสำคัญ ที่พรรคก้าวไกลมองว่า มีโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งเมืองหลวงครั้งนี้ คือการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” และ “ส.ก.” ในวันเดียวกัน คือ 22 พ.ค.2565 แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่จัดการเลือกตั้งคนละวัน
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 29 ส.ค. 2553 (ภายหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2552 ราว 1 ปี) โดยในปี 2553 มีจำนวน ส.ก.รวม 61 ที่นั่งจาก 50 เขต ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ไป 45 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 15 ที่นั่ง และนักการเมืองอิสระ 1 ที่นั่ง โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 1,702,845 ราย คิดเป็น 41.14% จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 4,139,075 ราย
ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2552 (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จาก ปชป.ชนะเลือกตั้งสมัยแรก) มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งบ 2,120,721 ราย คิดเป็น 51.10% จากจำนวนผู้มีสิทธิ 4,150,103 ราย
ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะสมัยที่ 2) มีผู้มาใช้สิทธิ 2,715,640 ราย คิดเป็น 63.98% จากจำนวนผู้มีสิทธิ 4,244,465 ราย
ดังนั้นการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.” ในวันเดียวกัน อาจส่งผลให้ยอดผู้มาใช้สิทธิมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลประเมินแล้วว่า จะเข้าทางพรรคตัวเอง สวนทางกับพรรคเพื่อไทย ที่ประเมินแล้วเช่นกันว่า เมื่อไม่มีกระแส “ชัชชาติ” มาช่วยเติมคะแนน อาจเสี่ยงเสียแต้มให้พรรคก้าวไกลมากกว่าที่คิด
ตัวเลขต่างๆ ทั้งผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง คะแนนผู้ว่าฯ คนใหม่ และทุกลำดับ จะมีนัยต่อการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติอย่างน่าสนใจ จะได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของทั้ง 2 ขั้วการเมือง โอกาสการพลิกขั้ว หรือเกิดขั้วใหม่