“วิโรจน์” ชู “ผู้ว่าฯ กทม.” เพื่อคนจน เสนอแก้หนี้ BTS ย้ำนโยบายเพิ่มสวัสดิการ
“วิโรจน์” ชูตัวเองเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ทำเพื่อคนจน ย้ำนโยบายเพิ่มสวัสดิการเด็ก-ผู้สูงวัย เสนอแก้หนี้ BTS 40,000 ล้าน ลั่นเปิดเผยสัญญาสัมปทาน รฟฟ. ปลดแอกภาระจำยอม พร้อมเข้าไปแก้ไขข้อบัญญัติและงบประมาณอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ที่มิวเซียมสยาม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เบอร์ 1 ปราศรัยใหญ่ โดยเริ่มต้นด้วยการบอกถึงที่มาฐานคิด 12 เมืองที่คนเท่ากันว่าคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่คนจน แต่ยังรวมถึงคนชั้นกลางที่ทุกวันนี้มีภาระมากเกินกว่าจะบริจาคแล้ว
“ผมนึกถึงอดีตแม่บ้านเพื่อนร่วมงานของผมที่ชื่อพี่แป้นป่วยเป็นโรคไต เพื่อนร่วมงานผมต้องถือกล่องรับบริจาคแทนที่เมืองจะเป็นคนดูแลคนในเมืองนี้ ผมลงพื้นที่ที่บางซื่อเจอคุณยายสะอาด บอกกับผมว่าทุกวันนี้ต้องกินข้าวกับไข่ต้ม เพราะเงินจากเบี้ยยังชีพทำให้ดำรงชีวิตได้เพียงเท่านี้ วันที่ได้กินแกงถุงคือวันที่เป็นรางวัลของชีวิตแล้ว นี่คือเหตุผลที่เราต้องเสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพ จาก 600 เป็น 1,000 บาท สำหรับเด็กเล็ก เราเจอเด็กยากจนในชุมชนเรารู้อยู่แก่ใจว่าเค้าไม่สามารถเป็นผู้ใหญ่ที่วิ่งตามความฝันเงื่อนไขนี้มาแก้ปัญหาเติมสวัสดิการเด็กเล็กจาก 600 บาท/เดือน ขึ้นมาเป็น 1,200 บาท/เดือน คนชั้นกลางถามว่าแล้วเราได้อะไร คำตอบของผมคือ ได้ความสุขของเมือง ๆ นี้กลับคืนมา” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวถึงการเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าว่า ทุกคนพูดว่าต้องปิดสัญญาไม่เปิดสัญญา แต่มีแค่วิโรจน์คนเดียวที่ขอเปิดให้ กทม. เปิดเผยสัญญา และเรามีหนี้ที่ติดค้าง BTS อยู่ประมาณ 37,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันดอกเบี้ยเดินกลายเป็นกลายเป็น 39,000 ล้านบาท และทบไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรหนี้ก้อนนี้จะเป็นภาระให้ผู้ว่าคนต่อไปต้องยอมต่อสัญญาสัมปทาน
“ผมอยากทวงถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่ต้องมาสั่งสอนผู้ว่าคนต่อไป แต่ให้คืนเงินภาษีที่ดินที่รัฐบาลผลักภาระมาให้คนกรุงเทพ 30,000 ล้านบาท ตัดงบประมาณ กทม. ที่ไป “สนับสนุนนโยบายรัฐบาล” 4,000 ล้านบาท และขอสภากรุงเทพให้นำเงินสะสม กทม. มาใช้หนี้ที่เหลือเพื่อลดหนี้ก้อนนี้ไปก่อน” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การหางบประมาณและการจัดสรรงบประมาณคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย หลายคนบอกให้ประหยัดงบประมาณ แต่ต้องถามว่าจะต้องประหยัดอีกเท่าไหร่ ทำไมกรุงเทพต้องกระเบียดกระเสียนในขณะที่ยังมีนายทุนที่ไม่จ่ายในต้นทุนที่ควรจะจ่าย นอกจากนี้การอุดหนุนรถเมล์ต้องใช้เงิน 700 ล้านบาท/ปี ลอกท่อทั่วเมืองลอกคลองทั่วกรุงใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี เพิ่มรอบการเก็บขยะปรับปรุงจุดทิ้งขยะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี ฉีดวัคซีนปอดอักเสบใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท/ปี การปรับปรุงโรงเรียนศูนย์เด็กเล็กก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จากพรรคก้าวไกลเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ไปยกมือให้กับการจัดสรรงบประมาณสร้างเมืองที่คนเท่ากันและแก้ไขกฎระเบียบเมืองให้เป็นธรรม
“หลายครั้งเราได้ยินว่าบอกว่าข้อระเบียบทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าติดข้อระเบียบข้อไหนแต่นี่จะไม่พูดออกจาก ส.ก. ก้าวไกลเพราะเราจะเข้าไปแก้ข้อระเบียบนั้น โรงขยะที่อ่อนนุชสร้างกลิ่นเหม็นให้คนที่ประเวศ สวนหลวง ลาดกระบัง ส.ก. ก็บางกลุ่มบอกไม่เหม็น แต่ส.ก. พรรคก้าวไกล พร้อมต่อสู้เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนกรุงเทพฝั่งตะวันออก” นายวิโรจน์ กล่าว