เปิดงบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล. คาดเศรษฐกิจฟื้น ห่วงการเงินโลกผันผวน

เปิดงบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล. คาดเศรษฐกิจฟื้น ห่วงการเงินโลกผันผวน

เปิดงบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตามเศรษฐกิจโลก ปรับตัวจากภาคท่องเที่ยว-ส่งออกขยาย แต่ห่วงการเงินโลกผันผวน-กลายพันธุ์โควิด หนี้สาธารณะสิ้น ม.ค.65ยังไม่เกินเพดานกฎหมายกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมสภาฯ เป็นพิเศษ ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึงวันที่ 2 มิ.ย. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากงบประมาณ ปี65 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ซึ่งวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.79 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สำนักงบประมาณ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 65 ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากการผ่อนคลายของผลกระทบ จากการระบาดโควิด การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ภายใต้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว อยู่ในเกณฑ์ดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ ผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การกลายพันธุ์และการระบาดของเชื้อไวรัส และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5

สำหรับ เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2 - 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก การกลายพันธุ์และการระบาดของไวรัส รวมทั้งการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 –1.5

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณ ยังเปิดแผยว่า หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 ม.ค. 65 มีจำนวน 9.73 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.9 ของจีดีพี ประกอบด้วย หนี้ที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล จำนวน 9.28 ล้านล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 4.47 แสนล้านบาท

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.96 แสนล้านบาท
  2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.96 แสนล้านบาท
  3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.49 แสนล้านบาท
  4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.59 แสนล้านบาท
  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.22 แสนล้านบาท
  6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารการจัดการภาครัฐ 6.58 แสนล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 4.02 แสนล้านบาท

 

สำหรับงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามกระทรวงและหน่วยรับ 10 อันดับแรกที่ได้รับงบประมาณ มีดังนี้

  • อันดับที่หนึ่ง งบกลาง 5.9 แสนล้านบาท
  • อันดับที่สอง กระทรวงศึกษาธิการ 3.259 แสนล้านบาท แต่ลดจากงบฯปี65 จำนวน 4.5 พันล้านบาท
  • อันดับที่สาม กระทรวงมหาดไทย 3.255 แสนล้านบาท
  • อันดับที่สี่ กระทรวงการคลัง 2.85 แสนล้านบาท
  • อันดับที่ห้า ทุนหมุนเวียน2.06 แสนล้านบาท
  • อันดับที่หก กระทรวงกลาโหม 1.97 แสนล้านบาท แต่ลดจากงบฯปี65 จำนวน 4.3 พันล้านบาท
  • อันดับที่เจ็ด กระทรวงคมนาคม 1.8 แสนล้านบาท
  • อันดับที่แปด รัฐวิสาหกิจ 1.62 แสนล้านบาท
  • อันดับที่เก้า กระทรวงสาธารณสุข 1.56 แสนล้านบาท
  • อันดับที่สิบ ปิดท้าย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.26 แสนล้านบาท