“เศรษฐกิจไทย” ดีลล่ม “มิ่งขวัญ” ปั้นพรรคโอกาสไทย
“มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” สวนกระแสดูด ปฏิเสธคำเชิญชวนของหลายพรรค โดยเลือกเส้นทางการเมือง "โชว์เดี่ยว" ปั้นพรรคโอกาสไทย ของตัวเอง ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหน ก็ต้องลุ้นว่าแบรนด์ของมิ่งขวัญ ยังมีมูลค่าแค่ไหน ภายใต้กติกาบัตรสองใบ ที่พรรคเล็ก พรรคใหม่ เสียเปรียบ
การกลับมาของ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" พลิกล็อกไม่น้อย เมื่อการเปิดแถลงข่าว วันที่ 8 มิ.ย.2565 กลายเป็นเรื่อง เตรียมการจัดตั้ง "พรรคโอกาสไทย" เพื่อให้เป็นโอกาสของคนไทยทุกคน โดยใช้สีเขียวและสีชมพูสดเป็นสีของพรรค
ค่ำวันที่ 7 มิ.ย.2565 มีข่าวปล่อยสนั่นโซเชียล ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีต รมว.พาณิชย์ ตอบรับจะมาเป็นดรีมทีมเศรษฐกิจของพรรคเศรษฐกิจไทย พอรุ่งเช้า กระแสข่าว“ดีลลับ” มิ่งขวัญ-ธรรมนัส ล่มไม่เป็นท่า มาแรง
ย้อนไปเมื่อ 26 เม.ย.2565 บุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย แจ้งกับนักข่าวว่า จะมีการเปิดทีมเศรษฐกิจในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตามกระแสข่าว พรรคเศรษฐกิจไทย ได้ทาบทาม ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ มาร่วมงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้น ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ส่วนมิ่งขวัญ เก็บตัวเงียบจนกระทั่งมาแถลงข่าวตั้งพรรคโอกาสไทย
สำหรับพรรคเศรษฐกิจไทย หลัง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้พ้นจากหัวหน้าพรรคไป ก็จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคเศรษฐกิจไทย ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ วันที่ 10 มิ.ย.2565 ซึ่งมีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร จะเป็นเลขาธิการพรรค
น่าจับตาดูว่า ร.อ.ธรรมนัส จะได้ใครมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย หลังมิ่งขวัญ ไม่ตอบรับคำเชิญ หรือจะเป็นธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
หายหน้าไปนานนับสิบปี อดีต รมว.พาณิชย์ และอดีตรองนายกฯ “มิ่งขวัญ” ก็คืนสู่ถนนการเมืองเมื่อปี 2561 ในฐานะแม่ทัพพรรคเศรษฐกิจใหม่ และประสบความสำเร็จแบบเหลือเชื่อ
วันที่ 11 ต.ค.2561 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แถลงหวนคืนสังเวียนการเมือง และปฏิเสธข่าวไม่เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ
วันที่ 14 พ.ย.2561 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แถลงข่าวเข้าร่วมงานกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ โดยสุภดิช อากาศฤกษ์ หัวหน้าพรรคขณะนั้น ได้เสนอชื่อมิ่งขวัญอยู่ในบัญชีเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้าพรรค
มิ่งขวัญนำทัพพรรคเศรษฐกิจใหม่ สู่สนามเลือกตั้ง เขาใช้ประสบการณ์การตลาดสร้างแบรนด์มิ่งขวัญ จอมยุทธ์เศรษฐกิจ และเข้าร่วมเวทีดีเบตทุกครั้ง สร้างความประทับใจให้แก่ประชาชนทั่วไป
ด้วยกลไกการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้ ส.ส.เข้าสภาได้ถึง 6 คน
มิ่งขวัญนำพรรคไปอยู่กับขั้วเพื่อไทยและพันธมิตร ที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคพลังประชารัฐ
หลังรัฐบาลประยุทธ์ บริหารประเทศไปสักพักใหญ่ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 5 คน ก็แสดงตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ส่วนมิ่งขวัญยังอยู่กับฝ่ายค้านเพียงคนเดียว
วันที่ 22 พ.ค.2562 มิ่งขวัญลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่คงความเป็นสมาชิกพรรค และสถานะ ส.ส.เอาไว้
วันที่ 17 ก.พ.2565 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ประกาศลาออกจาก ส.ส.กลางสภาฯ
หลังจาก “มิ่งขวัญ” อำลาสภาฯ พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็ตกอยู่ในสถานการณ์แปลก ๆ มี ส.ส.บางส่วนไปสังกัดกลุ่ม 16 และมี ส.ส.บางคน ไปร่วมงานกับฝ่ายค้าน
เช็กชื่อ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง หลังเลือกตั้ง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 คน ประกอบด้วยมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ,สุภดิช อากาศฤกษ์ ภาสกร เงินเจริญกุล, นิยม วิวรรธนดิฐกุล มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ และมารศรี ขจรเรืองโรจน์
หลังมิ่งขวัญลาออกจาก ส.ส. ก็มี จิราพร นาคดิลก บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 ขยับขึ้นมาแทน เนื่องจาก ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 7 ไม่ถูกรับรองจาก กกต.ให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.
ช่วงก่อนศึกงบประมาณฯ ปรากฏว่า มี ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ 4 คน ไปสังกัดกลุ่ม 16 ของพิเชษฐ สถิรชวาล ขณะที่ นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เปิดตัวแถลงข่าวขอร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
สำหรับ นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล เคยเป็น ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย แต่เลือกตั้งปี 2562 กลับย้ายมาสังกัดพรรคเศรษฐกิจใหม่ และคาดว่า สมัยหน้าจะไปลงสมัคร ส.ส.แพร่ ในนามเพื่อไทย
นี่คือสภาพพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ ส.ส.ต่างก็ไปคนละทิศคนละทาง เพราะเป็นปีสุดท้ายของสภาฯ ชุดนี้ พวกเขาก็แสวงหาโอกาส และหาทางไปต่อในสมัยหน้า
ขณะที่ อดีตนักการตลาดจอมเก๋าอย่าง “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” สวนกระแสดูด ปฏิเสธคำเชิญชวนของหลายพรรค โดยเลือกเส้นทางการเมือง "โชว์เดี่ยว" ปั้นพรรคโอกาสไทย ของตัวเอง
ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหน ก็ต้องลุ้นว่าแบรนด์ของมิ่งขวัญ ยังมีมูลค่าแค่ไหน ภายใต้กติกาบัตรสองใบ ที่พรรคเล็ก พรรคใหม่ เสียเปรียบ