ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก “นายกฯ” พ่วง10รมต. “ชลน่าน”ลั่นตายคาสนามเลือกตั้ง
เปิดยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน “7พรรคฝ่ายค้าน” ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ พ่วง 10 รมต. “ชลน่าน” อัด “ประยุทธ์” มีภาวะผู้นำพิการทางสมอง ลั่นไม่ตายในสภาก็ตายในสนามเลือกตั้ง
ที่รัฐสภา 7พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคก้าวไกล
- พรรคเสรีรวมไทย
- พรรคประชาชาติ
- พรรคพลังปวงชนไทย
- พรรคเพื่อชาติ
- พรรคไทยศรีวิไลย์
นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยประธานสภาฯ กล่าวว่า จะรับญัตตินี้ไปพิจารณาภายใน 7 วัน ซึ่งต้องตรวจสอบว่าว่าญัตติมีความถูกต้องหรือไม่ โดยทั่วไปจะมีปัญหาเรื่องลายเซ็นไม่ตรงกัน ทั้งนี้ เราอภิปรายไม่ไว้วางใจกันมาทุกปี ประสบการณ์ทุกฝ่ายทราบดีว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร
คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 - 3 สัปดาห์ เนื่องจากเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค. มีร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณาอีกมาก และจะต้องหารือกับรัฐบาลว่ามีความพร้อมช่วงเวลาใด
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน 7 พรรค ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของส.ส.ที่มีอยู่ ทั้งหมด 182 รายชื่อ เพื่อขอยื่นญัตติอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน คือ
- พล.อ.ประยุทธ์จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย
- นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
- นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง
- นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
- นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เด็ดหัวนายกฯ และนั่งร้านทั้ง 10 เราใช้ข้อกล่าวหาเป็นรายบุคคลอยู่แล้ว ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ มีข้อกล่าวหาว่า ผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญกฎหมาย มาตรฐานจริยธรรม ปล่อยปละละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายรัฐบาล
มีพฤติกรรมที่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายผู้เห็นต่าง ปล่อยปละละเลยให้มีการทำลายประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีภาวะผู้นำที่พิการทางสมอง แม้ว่าจะแรงพอสมควร แต่เป็นเรื่องของลักษณะความรู้ความสามารถ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาของ
- นายจุรินทร์ เน้นเรื่องความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริตต่อพวกพ้อง
- นายอนุทิน ข้อกล่าวหาสำคัญคือการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวผิดพลาดบกพร่อง สนับสนุนหรือทำให้เกิดกระบวนการทำลายการปกครองระบบรัฐสภา มีการใช้เงินให้ได้มาซึ่งอำนาจ
- พล.อ.ประวิตร จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์สนับสนุนให้มีการแสวงหาผลประโยชน์
- พล.อ.อนุพงษ์ ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดล้มเหลว เอื้อประโยชน์ สนับสนุนให้มีทุจริต
- นายศักดิ์สยาม ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์
- นายชัยวุฒิ บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง ทำให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงขาดมาตรฐานจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติมิชอบ ในทางเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี
- นายจุติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ล้มเหลวไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน
- นายสุชาติ ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์ เอื้อประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ในหน้าที่
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า สำหรับช่วงเวลาการอภิปรายการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ และร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 24 มิ.ย.นี้ หรืออย่างช้าไม่ควรเกินวันที่ 1 ก.ค. ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล น่าจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่18 ก.ค.
ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านอภิปรายรัฐมนตรีจำนวนน้อยกว่าการขอเปิดอภิปรายครั้งนี้ ยังใช้เวลาการอภิปรายถึง 4 วัน ฉะนั้น ครั้งนี้น่าจะใช้เวลามากกว่าครั้งที่ผ่านมา
“การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่นอน อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 23 มี.ค.2566 แต่เรามั่นใจจะมีการเลือกตั้งเร็วกว่านั้น การอภิปรายครั้งนี้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ 2 อย่าง คือ อาศัยมือในสภาเด็ดหัว สอยนั่งร้าน
มั่นใจว่ามีเสียงพอในการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และคาดหวังว่าในสนามเลือกตั้งเราจะตรวจสอบนั่งร้านเพื่อให้ประชาชนชี้ขาดวินิจฉัย เรามั่นใจในศรัทธาของประชาชน ถ้าไม่ตายในสภาก็ไปตายในการเลือกตั้ง” นพ.ชลน่าน กล่าว